กูเกิล ปะทะ ไมโครซอฟท์ เปิดสงครามเอไอ

กูเกิลปะทะไมโครซอฟต์
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ถึงแม้การแข่งขันระหว่างบิ๊กเทคจะเป็นเรื่องปกติ แต่นานทีปีหนจะเห็นการปะทะเดือดซึ่ง ๆ หน้าอย่างครั้งนี้ ที่สองบิ๊กอย่างกูเกิล และไมโครซอฟท์ เปิดหน้าชนในสงครามเอไอ โดยมีชื่อเสียงและรายได้จากการโฆษณาเป็นเดิมพัน

ชนวนเหตุแห่งสงครามเกิดขึ้นหลังจากที่ OpenAI เปิดตัวแชตบอต อัจฉริยะ ChatGPT เดือน พ.ย.

ด้วยความสามารถในการทำตามคำสั่งได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการตอบคำถามและโจทย์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงความสามารถในการเรียบเรียงข้อมูลด้วยภาษาสละสลวย ทำให้ ChatGPT เป็นไวรัลที่มีการพูดถึงมากที่สุดในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เนื่องจาก OpenAI สตาร์ตอัพผู้พัฒนา ChatGPT มีไมโครซอฟท์เป็นนายทุนหลักตั้งแต่ปี 2018 ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า ไมโครซอฟท์น่าจะฉวยโอกาสนี้ผนวกระบบ large language models ของ ChatGPT เข้ากับบริการต่าง ๆ เช่น เสิร์ชเอนจิ้น และคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อขึ้นแท่นเป็นผู้นำเอไอของวงการ

แน่นอนว่าบิ๊กเทครายอื่นย่อมไม่ปล่อยให้ไมโครซอฟท์ปาดหน้าเค้กไปง่าย ๆ โดยเฉพาะ “กูเกิล” ที่ถือครองมาร์เก็ตแชร์ 84.08% (ข้อมูล www.statista.com) คิดเป็นรายได้จากโฆษณากว่า 2.2 แสนล้านเหรียญในปี 2022 ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมา นักข่าวสายเทคต้องทำงานหนักมาก เพราะทั้งกูเกิลและไมโครซอฟท์จัดแถลงข่าวเปิดตัวบริการค้นหาข้อมูลด้วยเอไอติด ๆ กัน

ประเดิมด้วย “Bard” แชตบอตตัวใหม่ของกูเกิลในวันจันทร์

ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิลนิยาม “Bard” ว่าเป็นบริการที่นำเสนอข้อมูลที่มี “คุณภาพ” และ “สดใหม่” จากความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลอัพเดตต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต

การเน้นที่ความสดใหม่ของข้อมูล ถือเป็นการโจมตีจุดอ่อนของ ChatGPT ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตแบบเรียลไทม์ได้ และต้องพึ่งพาข้อมูลจากดาต้าเบสที่มีอยู่เท่านั้น

ซันดาร์ยกตัวอย่างความฉลาดของ “Bard” ในการช่วยย่อยข้อมูล เช่น อธิบายการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ของนาซ่าให้เด็ก 9 ขวบ อ่านรู้เรื่อง เปรียบเทียบข้อมูล ข้อดี-ข้อเสียของรถไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจาก “Bard” แล้ว บริษัทยังจะใช้เอไอในการเพิ่มศักยภาพให้สินค้าและบริการอื่นในเครือ เช่น Google map, Google Lens และ “Google” ที่เป็นตัวเสิร์ชเอนจิ้นหลักและเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัทด้วย

ความร้อนแรงของ ChatGPT ทำให้ทั้งผู้บริหารและพนักงานกูเกิลกังวลอย่างมากจนต้องประกาศ “red code” ภายในองค์กรเพื่อพัฒนา “Bard” และบริการเอไออื่น ๆ ถึงขั้นลือกันว่ามีการดึงตัวอดีตผู้ก่อตั้งระดับตำนานอย่าง แลร์รี่ เพจ และเซอร์เกย์ บริน ให้กลับมาช่วยกอบกู้สถานการณ์

กูเกิลเป็นเจ้าแรก ๆ ที่พูดถึงศักยภาพของ language models โดยมีการซุ่มพัฒนา language model for dialogue applications (LaMDA) เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ไม่ได้เปิดให้คนนอกใช้ แต่คงเพราะแรงกดดันทั้งจากภายนอกและภายในทำให้อั้นต่อไปไม่ได้ ต้องเปิดตัว “Bard” ตัดหน้า “Bing” ของไมโครซอฟท์

“Bing” โฉมใหม่ของไมโครซอฟท์มาพร้อมเทคโนโลยี large language model ของ OpenAI แต่เป็นรุ่นที่มีศักยภาพมากกว่าตัวที่ ChatGPT ใช้

ทำให้ “Bing” เป็นมากกว่าเครื่องมือค้นหาข้อมูลเพราะตอบคำถามและโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างฉับไวเหมือนมี ChatGPT แบบ built-in ในตัว

เช่น เมื่อพิมพ์ค้นหาทีวีเครื่องใหม่ นอกจากจะได้ลิสต์ทีวีรุ่นต่าง ๆ แล้ว ยังมีหน้าต่างให้ “แชต” ถามข้อมูลเพิ่มเติมอื่น ๆ ด้วย เช่น ทีวีรุ่นไหนเหมาะกับการเล่นเกมที่สุดและให้ราคาดีที่สุด หรือหากอยากไปเที่ยวเมืองนอกแต่ไม่มีเวลาทำโปรแกรมเที่ยวเอง ก็ให้ “Bing” ช่วยทำโปรแกรมได้ แถมยังช่วยร่างอีเมล์ถึงเพื่อนร่วมทริปเพื่อแจ้งรายละเอียดการเดินทางได้อีก

สัตยา นาเดลล่า ซีอีโอไมโครซอฟท์ เรียกสิ่งนี้ว่า เป็นการเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” ของบริการข้อมูลซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมอื่น ๆ ตามมาอีกมาก

นอกจาก “Bing” แล้ว บริษัทยังใช้เอไอพัฒนาบริการอื่น ๆ เช่น เว็บบราวเซอร์ Microsoft Edge ที่มาพร้อมแชตบอตซึ่งทำหน้าที่เป็น “copilot” คอยตอบคำถามและเปรียบเทียบข้อมูลจากเว็บต่าง ๆ ให้

ไมโครซอฟท์ประกาศเมื่อปลายปีก่อนว่า มีแผนเพิ่มรายได้จากโฆษณา จาก 1 หมื่นล้านเป็น 2 หมี่นล้านเหรียญต่อปี โดยมี Microsoft Edge และ Bing (ณ สิ้นปี 2022 Bing มีมาร์เก็ตแชร์ราว 9%) เป็นกลจักรสำคัญในการปั๊มรายได้ในส่วนนี้

นักวิเคราะห์เชื่อว่า กูเกิลยังคงได้เปรียบในเกมนี้เพราะเป็นเจ้าตลาดมานาน แม้นักลงทุนจะค่อนข้างผิดหวังกับ “Bard” จนทำให้ราคาหุ้นของบริษัทร่วงไป 7%

ใครที่รอใช้งาน “Bard” และ “Bing” คงต้องอดใจรออีกหน่อย เพราะทั้งคู่มีแผนจะเปิดให้คนทั่วไปได้ใช้กันในอีก “ไม่กี่สัปดาห์” ข้างหน้านี้