ธปท.ลั่นไม่ปรับจีดีพีปี’67 ชี้ เศรษฐกิจขยายตัว 2.6% ขอดูสภาพัฒน์ 20 พ.ค.นี้

ธปท.ยันไม่ปรับจีดีพีปี’67 มองภาพรวมเศรษฐกิจยังขยายตัวสอดคล้องกับที่ประเมินไว้ 2.6% ชี้ขอรอดูตัวเลขสภาพัฒน์ 20 พ.ค.นี้ เผยเศรษฐกิจเดือน มี.ค.ชะลอลง เหตุอุปสงค์ภายในประเทศ-การท่องเที่ยวที่เร่งก่อนหน้า หมดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ส่วนไตรมาสแรกขยายตัวดีกว่าไตรมาสก่อน 1%

วันที่ 30 เมษายน 2567 นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า กรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จากเดิม 2.8% ลงมาอยู่ที่ 2.4% นั้น ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส ที่ 1/2567 ยังเป็นไปตามคาดการณ์ และยังสอดคล้องกับตัวเลขประเมินไว้ที่ขยายตัว 2.6% โดยยังไม่มีปัจจัยเซอร์ไพรส์ทั้งทางด้านบวกและลบที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ดี ธปท.ขอดูตัวเลขจริงในไตรมาสที่ 1/2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่จะออกมาในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นี้

ปราณี สุทธศรี
ปราณี สุทธศรี

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2567 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่เร่งตัวไปก่อนหน้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อผ่านโครงการ Easy E-Receipt หมดลง อย่างไรก็ดี หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2567 ยังขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2566 โดยสอดคล้องกับ ธปท.ที่ประเมินไว้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 1% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และขยายตัว 1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งขยายตัวระดับต่ำ แต่มาจากฐานสูงปีก่อน

โดยการบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคมชะลอตัวลง -0.6% จากเดือนก่อนหน้า มาจากมาตรการ Easy E-Receipt และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้รายได้ปรับลดลง อย่างไรก็ดี อยู่ในการประเมินว่าจะการบริโภคปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ดีถึง 7.1% เนื่องจากมีการปรับฐาน ซึ่งยังต้องติดตามต่อเนื่อง

Advertisment

การลงทุนภาคเอกชนชะลอลง -1.4% จากเดือนก่อน โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ลดลงตามการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ และการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงต่อเนื่อง ซึ่งหากดูภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2567 ขยายตัว 3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลง -2.2%

ส่วนการส่งออกในเดือนมีนาคมหดตัว -10.2% เป็นผลมาจากฐานที่สูงในปีก่อน และมีการเร่งตัวจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศ อิเล็กทรอนิกส์ และทุเรียนและน้ำตาล โดย ธปท.มองว่าการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ไม่ได้ติดลบแบบน่าตกใจ ขณะที่ตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากภาคการบริการ โดยตัวเลขการว่างงานปรับลดลงทุกสาขา ซึ่งภาพรวมในไตรมาสที่ 1/2567 ยังใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว โดยรายจ่ายลงทุนหดตัวสูง -59.2% ตาม พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ล่าช้า โดยภาพรวมไตรมาสที่ 1/2567 การใช้จ่ายภาครัฐหดตัว 19.7% คาดว่าหลังงบประมาณผ่านสามารถใช้จ่ายได้ จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2567 ได้

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ -0.47% น้อยลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ -0.77% จากหมวดอาหารสดที่ผลของฐานสูงในปีก่อนเริ่มหมดไป ประกอบกับราคาผักและผลไม้เพิ่มขึ้น และจากหมวดพลังงานที่ราคาน้ำมันเบนซินปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

Advertisment

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลง 0.37% จากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาในหมวดของใช้ส่วนตัวลดลงตามการทำโปรโมชั่นของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าในหมวดอาหาร อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหารบริโภคนอกบ้านยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง ตามดุลการค้าที่เกินดุลลดลงเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุลเล็กน้อยใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจลดลงตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ของธุรกิจในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ เนื่องจากมีหุ้นกู้ครบกำหนดจำนวนมากและได้เร่งระดมทุนไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.ชะลอลง จากอุปสงค์ในประเทศและภาคท่องเที่ยวหลังเร่งไปก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสดและพลังงาน

และหากดูภาพรวมในไตรมาสที่ 1/67 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อานิสงส์ภาคการท่องเที่ยว การลงทุนปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ระยะข้างหน้ายังต้องติดตามผลการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การฟื้นตัวภาคการส่งออก และการท่องเที่ยว รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์”