คลังหั่นจีดีพีปีนี้โต 2.4% “ส่งออกหด-งบประมาณล่าช้า”

GDP

คลัง หั่นจีดีพีปี 2567 เหลือ 2.4% เหตุ “ส่งออกหด-ภัยแล้ง-งบประมาณล่าช้า” ลุ้นแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้จ่ายไตรมาส 4 กระตุ้นยอดใช้จ่าย 3.5 แสนล้านบาท ช่วยดันเศรษฐกิจโต 3.3%

วันที่ 29 เมษายน 2567 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ 2.4% ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ โดยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.2% โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม

รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังหดตัวในระดับสูง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) โดยเฉพาะสินค้าในหมวดยานยนต์ ชิ้นส่วนและแผงวงจร ที่ปรับตัวลดลงมาก ขณะเดียวกันยังมีผลมาจากภาคการเกษตรที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและปรากฎการณ์เอลนีโญซึ่งเป็นปัญหาอย่างมาก ตลอดจนภาคการคลัง จากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ทำให้มองว่าจากปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการปรับตัวลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

ทั้งนี้ หากเม็ดเงินจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สามารถเริ่มมีการใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4/2567 จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ต่อปี ภายใต้สมมุติฐานว่าในช่วงไตรมาส 4 ประชาชนจะมีการใช้จ่ายเงินในโครงการ Digital Wallet ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

Advertisment

“วงเงินเป้าหมายของโครงการ Digital Wallet คือ 5 แสนล้านบาท และการใช้จ่ายมีระยะเวลา ไม่ได้จบแค่เดือน ธ.ค. 2567 นั่นหมายความว่าประชาชนบางส่วนจะมีการใช้เม็ดเงินต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า ซึ่งรัฐบาลได้ประมาณว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตนี้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8%

แต่ถ้าจับช่วงเวลาที่มีผลต่อเศรษฐกิจ คือ ในไตรมาส 4/2567 ที่คาดว่าจะมีการใช้จ่าย 3.5 แสนล้านบาท ในส่วนนี้ก็จะมีผลกับเศรษฐกิจในปีนี้ให้ขยายตัวได้ 3.3% ส่วนเม็ดเงินจะมีการหมุนไปอีกหลายรอบในระยะถัดไป แต่ถ้าไม่มีโครงการ Digital Wallet ปีนี้เศรษฐกิจก็จะอยู่ที่ 2.4%” นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวอีกว่า จากตัวเลขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องส่งออกกับภาคอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัวนั้น เชื่อว่าจะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีข้อมูลเพื่อไปประกอบการพิจารณาได้ดีขึ้น และคาดว่าในการประชุมของ กนง. ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอย่างน้อย 0.25% ต่อปี

ส่วนสถานการณ์การอ่อนค่าเงินบาทนั้น มองว่าจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์กับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ที่จะทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 35.7 ล้านคน โดยในส่วนนี้คาดว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจีน ราว 7 ล้านคน สร้างรายได้ 1.59 ล้านล้านบาท ขยายตัว 29% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Advertisment

ขณะที่ในมุมของผู้นำเอง ก็ต้องมีการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนในมุมของการไหลเข้า-ออกของตลาดทุนนั้น มองว่าบาทอ่อนเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยหลักคือเรื่องความเชื่อมั่น ความมั่นใจในการถือครองหลักทรัพย์มากกว่า สะท้อนจากราคาทองคำที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปลายปีเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้