ลูกหนี้อ่วมดอกเบี้ยไม่ลด “ดิจิทัลวอลเลต” ความหวังปลุกจีดีพี

digital wallet

มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% เมื่อ 10 เมษายนที่ผ่านมา สร้างความผิดหวังให้หลายฝ่าย โดยเฉพาะลูกหนี้และภาคธุรกิจเอกชน เพราะรอบนี้ ทั้งศูนย์วิจัยของธนาคารไทยพาณิชย์ กรุงไทย และซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่า กนง.ครั้งนี้จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% เนื่องจากมองว่าระยะสั้นเศรษฐกิจยังชะลอตัวมากกว่าคาด และการลดดอกเบี้ยก็เป็นการปรับสมดุลใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลง

กนง.เสียงข้างน้อย “ลดดอกเบี้ย”

โดย กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงินมีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดี กรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง

ขณะที่หลายฝ่ายมองว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะการฟื้นตัว แต่ก็ถือว่าฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บรรดาสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็พาเหรดออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2567 เหลือโตต่ำกว่า 3%

ซึ่งการที่ดอกเบี้ยยังยืนอยู่ในระดับสูง จะเป็นแรงกดดันสำคัญต่อ “ลูกหนี้” ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี ในสถานการณ์ที่กำลังซื้อย่ำแย่

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดข้อมูล “หนี้ครัวเรือน” ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 16.36 ล้านล้านบาท เท่ากับ 91.3% ของ GDP จำนวนหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 143,332 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.88% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/2566 นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญคือตัวเลข “หนี้เสีย” และ “หนี้กำลังจะเสีย” อยู่ในทิศทางขาขึ้นเช่นกัน ทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะถูกบั่นทอนด้วยหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อก็จะลดลงในระยะยาว

EXIM BANK-ธอส. หั่นดอกเบี้ย

ล่าสุดธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขานรับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ดอกเบี้ยช่วยประชาชน โดยลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs) ลง 0.15% ต่อปี เหลือ 6.60% ต่อปีมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย. 2567 นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในเทศกาลสงกรานต์นี้ให้แก่ผู้ประกอบการ

ขณะที่ ธอส. ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.105% โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย 2567 เป็นต้นไป

“ดิจิทัลวอลเลต” ตัวหมุนเศรษฐกิจ

ขณะที่ในวันเดียวกันกับที่มีการประชุม กนง. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้แถลงถึงความชัดเจนและรายละเอียดของโครงการ โดยจะให้สิทธิแก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อเติมเงินลงสู่ฐานราก ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีประมาณ 1.2-1.6%

ผูกเงื่อนไขจ่ายผ่านคนตัวเล็ก

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่า เงื่อนไขผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากรวมไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนเงื่อนไขการใช้จ่าย รอบที่ 1 เป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) ตามที่อยู่บัตรประชาชน และกำหนดให้ประชาชนที่ได้รับเงินใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น คือร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อลงมา เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น รวมถึงร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน แต่ไม่รวมซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายลงไปในกลุ่มคนตัวเล็ก

ในการใช้จ่ายรอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ และขนาดของร้านค้า

“ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป เป้าหมายเพื่อให้เกิดเงินหมุนในระบบ” ทั้งนี้ ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรืออยู่ในระบบภาษีเงินได้นิติบุคคล

ดิจิทัลวอลเลต Quick-win

ขณะที่ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยระยะหลังต้องเผชิญกับการเติบโตที่อยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ Digital Wallet ที่คาดว่าจะเริ่มโอนเงินได้ในช่วงไตรมาส 4/2567 จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าให้มีความต่อเนื่อง ถือเป็นมาตรการ Quick-win ที่จะผลักดันอุปสงค์ภายในประเทศให้ฟื้นตัวได้ทั่วถึงมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าโครงการดิจิทัลวอลเลตสามารถต่อยอดสู่การช่วยผันเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจนอกระบบของไทยยังมีขนาดใหญ่ถึง 48.4% ของ GDP

ตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาวะอ่อนแอ

Krungthai COMPASS ชี้ว่า โครงการ Digital Wallet ถือเป็นเครื่องมืออัดฉีดเข้าระบบที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งอยู่ในภาวะอ่อนแอ ช่วยประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

และมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยหลายด้าน