TikTok กับข้อครหาภัยความมั่นคง!?

TikTok
คอลัมน์ : Tech Times 
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

สัปดาห์ที่แล้วซีอีโอ TikTok ได้รับคำชมจากชาวเน็ตอย่างท่วมท้น เพราะสามารถควบคุมตัวเองได้ดีเยี่ยมหลังโดนคณะกรรมาธิการพลังงานและการค้าของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ไล่บี้อย่างหนักกรณีที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ

แต่ความพยายามของซีอีโอในการอธิบายว่า บริษัทไม่เคยนำข้อมูลผู้ใช้งานในอเมริกาไปส่งให้รัฐบาลจีนก็ดูจะเป็นแค่ลมเบา ๆ ที่โชยผ่านหูซ้ายทะลุหูขวาของเหล่า ส.ว. ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการเท่านั้น

ตลอดการซักถามกว่า 5 ชั่วโมง เป็นที่ชัดเจนว่า ส.ว. เหล่านี้ เชื่อฝังหุ่นไปแล้วว่า TikTok เป็นแอปอันตรายที่ทางการจีนใช้สอดแนมความเคลื่อนไหวของประชาชนชาวอเมริกัน ถึงแม้ตัวเองจะไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสักเท่าไหร่ (บางคนยังเรียก TikTok ว่าTikTak ในขณะที่มีบางคนถามว่า หากจะใช้ TikTok ต้องเชื่อมต่อกับ WiFi มั้ย) และไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมว่า TikTok มีพฤติกรรมที่เป็นภัยความมั่นคงจริง ๆ ก็ตาม

สิ่งที่สหรัฐกังวล คือ กลัวว่าจีนจะสั่งให้ ByteDance ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ TikTok นำส่งข้อมูลให้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง บอกว่า ยังไม่พบหลักฐานว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐ ที่มีก็เป็นเพียงความกังวลว่า TikTok มี “แนวโน้ม” ที่ “อาจจะ” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในงานข่าวกรองของจีนได้ เพราะกฎหมายด้านความมั่นคงของจีนนั้นมีขอบเขตที่กว้างมาก เช่น กำหนดให้ทุกหน่วยงาน องค์กร และประชาชนทุกคน ต้องให้ความร่วมมือในงานข่าวกรองของชาติ โดยไม่ระบุว่า งานข่าวกรองที่ว่านั้น คือ อะไร

ทำให้นักการเมืองสายฮาร์ดคอร์ของสหรัฐกลัวว่า หากจีนได้ข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันไป จะสามารถนำมาใช้ในงานสืบราชการลับต่าง ๆ และถึงจะมีคนท้วงว่า คนเล่น TikTok ส่วนใหญ่เป็นแค่เด็กวัยรุ่น แต่ความระแวงก็ไม่หมดไป เพราะเด็กวันนี้ก็ต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าอยู่ดี และไม่แน่อาจกลายเป็นคนใหญ่คนโตในรัฐบาล ดังนั้น ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ด้วยการสั่งแบนการใช้งานทั่วประเทศ

Advertisment

แต่ถ้าจะให้แฟร์กับ TikTok ก็ต้องยอมรับว่าบริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ถึงจะไม่มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าทำความผิด บริษัทก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ทางการสหรัฐสบายใจ เช่น ยอมลงทุนกว่า 1.5 พันล้านเหรียญในการโอนข้อมูลทั้งหมดของผู้ใช้งานในสหรัฐมาเก็บไว้ที่ cloud server ของ Oracle แถมมีคณะกรรมการเพื่อกลั่นกรองข้อมูลต่าง ๆ อีก

ที่สำคัญ คือ นักวิจัยด้านความปลอดภัยข้อมูลจากหลายสำนักก็ตรวจ
ไม่พบว่า TikTok เป็นสปายให้รัฐบาลจีน หรือมีการปล่อยข้อมูลรั่วไหลไปไหนเช่น ในปี 2020 หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ร่วมกับนักวิจัยเอกชนทำการตรวจสอบระบบของ TikTok แต่ก็ไม่พบหลักฐานใด ๆ พบเพียงแต่ว่ามีการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานแบบเดียวกับที่โซเชียลมีเดียอื่นก็ทำกัน และในปีถัดมา นักวิจัยจาก Citizen Lab ของมหาวิทยาลัยโตรอนโต้ ก็ไม่พบพิรุธใด ๆ เช่นกัน

Advertisment

ในขณะที่ข้อกล่าวหาที่ว่า TikTok มีการใช้ระบบ keylogging เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้แป้นพิมพ์ ทางบริษัทบอกว่า ซอฟต์แวร์ตัวนี้เพื่อตรวจจับพวกสแปมหรือบอตเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะสอดแนมหรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝง ถึงแม้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว keylogging จะสามารถใช้บันทึกพาสเวิร์ดรวมถึงรู้ข้อมูลบัตรเครดิตและข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ได้ แต่ TikTok ไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ใช้ซอฟต์แวร์นี้ แอปดังอื่น ๆ ก็ใช้กันอย่างแพร่หลาย

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่า TikTok มีการใช้ tracking pixels เพื่อติดตามพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้งานนั้น TikTok บอกว่า ทำไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการยิงโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ เฟซบุ๊ก กูเกิล และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ใช้

สรุปสั้น ๆ คือ TikTok อาจมีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ใช้งานจำนวนมากจริง แต่แอปอื่นก็ทำเช่นกัน ดังนั้นหากอยากคุมเข้ม TikTok จริง ๆ ก็ต้องไปแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงแนวทางในการนำข้อมูลนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการ

เหมือนที่ เพาลีออน ลิน นักวิจัยจาก Citizen Lab บอกกับ CNN ว่า การที่ TikTok และบรรดาโซเชียลมีเดีย สามารถเก็บข้อมูลผู้ใช้งานได้ล้านแปดเป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวทางนโยบายของผู้คุมกฎ

เขามองว่า TikTok ก็เป็นแค่ผู้เล่นรายหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกไม่เคยตระหนักถึงหน้าที่ในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนของตัวเอง แถมปล่อยปละละเลยให้บิ๊กเทคเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้น ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ หาทางปกป้องข้อมูลของประชาชนอย่างจริงจัง แทนที่จะมาไล่บี้ TikTok อย่างเดียว

แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นจากนักวิชาการเพราะตราบใดที่ ByteDance ยังเป็นบริษัทจีนและอยู่ใต้การกำกับดูแลของทางการจีนความระแวงที่นักการเมืองสหรัฐมีต่อ TikTok ก็คงไม่มีวันจางหายไปอยู่ดี