บทบรรณาธิการ : รวมนโยบายเร่งตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย

จัดตั้งรัฐบาล
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ผลจากการที่ไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเกินกว่ากึ่งหนึ่งในการตั้งรัฐบาลหรือได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 376 เสียงสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ส่งผลให้หน้าตาของรัฐบาลชุดต่อไปจะต้องเป็นรัฐบาลผสม

จากเบื้องต้นที่มีการแถลงข่าวร่วมกันของ 8 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ มีคะแนนเสียงรวมกันอย่างไม่เป็นทางการ 313 เสียง ประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจากเหตุที่ว่า เป็นพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งเข้ามาสูงสุดรวม 152 เสียง

โดยรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังดำเนินการจัดตั้งอยู่ในขณะนี้ถูกเรียกว่า “รัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน” จากการประชุมร่วมกันครั้งล่าสุดทั้ง 8 พรรคเห็นชอบที่จะ 1) สนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้ง 2) ทุกพรรคจะจัดทำข้อตกลงร่วมหรือ MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อแสดงถึงแนวร่วมในการทำงานร่วมกันและวาระร่วมของทุกพรรคเพื่อแก้ไขวิกฤตทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

และ 3) ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้อย่างไร้รอยต่อด้วยความเคารพในเสียงข้างมากของประชาชน

ทว่าคำประกาศของ 8 พรรคร่วมดังกล่าวยัง “ห่างไกล” จากเป้าหมายของการเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน เนื่องด้วยยังไม่มีคำมั่นสัญญาใด ๆ ที่จะเป็นข้อ “ผูกมัด” ที่จะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน จากข้อเท็จจริงที่ว่า เสียงระหว่างพรรคร่วมอันดับ 1 กับอันดับ 2 ห่างกันแค่ 11 เสียง นโยบายในการหาเสียงของทั้ง 8 พรรคแตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรัฐสวัสดิการ นโยบายประชานิยม การขึ้นค่าจ้างแรงงาน ว่าด้วยมาตรา 112 และนโยบายที่เกี่ยวกับความมั่นคงและกองทัพ

ประกอบกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังต้องการเสียงสนับสนุนอีก 63 เสียง ซึ่งจะมีที่มาจาก 2 แหล่งคือ พรรคอื่น ๆ ที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามานอกเหนือจาก 8 พรรคข้างต้น กับเสียงจากวุฒิสภาชิกที่มีอยู่อีก 250 เสียง “เต็มใจ” อย่างพร้อมเพรียงที่จะโหวตให้หรือไม่

ดังนั้นหนทางเดียวที่จะแผ้วถางทางไปสู่การเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน ก็คือ การหลอมรวมนโยบายให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยไม่ใช่วิธีบังคับด้วยการอ้างเสียงของคนหมู่มาก การแก้ปัญหาด้วยวิธีสงวนจุดต่าง-แสวงจุดร่วมโดยหลีกเลี่ยงประเด็นความเห็นต่างอย่างสำคัญจะไม่ใช่คำตอบสำหรับความตั้งใจที่จะเข้ามาบริหารประเทศตลอด 4 ปีข้างหน้า