ตรวจ “ผังน้ำ” ก่อนซื้อที่ เลี่ยงทางน้ำไหล-น้ำนอง

ตรวจ ผังน้ำ ก่อนซื้อที่
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์

หลายคนที่กำลังคิดจะซื้อที่ดิน ปลูกบ้าน สร้างโรงงาน ซื้อบ้านจัดสรรตามโครงการต่าง ๆ ไว้ให้ลูกหลานอยู่ รวมถึงการซื้อที่ดินเก็งกำไร เพราะมีการเสนอขายราคาถูก ต้องตรวจสอบให้ดี !

นอกจากการตรวจสอบสีผังเมืองแล้ว ต่อไปต้องตรวจสอบว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเคยถูกน้ำท่วม เป็นทางน้ำหลาก น้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก เป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำในฤดูฝนหรือไม่

โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. กำลังจัดทำ “ผังน้ำ” ขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยว่าจ้างบริษัทเอกชน สถาบันการศึกษาสำรวจทั้ง 22 ลุ่มน้ำในประเทศไทย ว่าบริเวณที่เป็นทางน้ำไหลผ่าน ทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง พื้นที่ลุ่มต่ำอยู่ตรงบริเวณไหนของตำบล อำเภอ จังหวัด

               

ปัจจุบันทำเสร็จทุกขั้นตอนไป 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี, ลุ่มน้ำมูล, ลุ่มน้ำแม่กลอง, ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขงอีสาน (ครอบคลุมจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ)

ที่เหลืออีก 17 ลุ่มน้ำกำลังอยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์กันอีกหลายยก ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำสะแกกรัง, ลุ่มน้ำท่าจีน, ลุ่มน้ำปิง, ลุ่มน้ำวัง, ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำน่าน, ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน

ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำโขงเหนือ, โตนเลสาบ, ชายฝั่งทะเลตะวันออก, ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์, ภาคใต้ฝั่งตะวันตก, ทะเลสาบสงขลา และภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง

ยกตัวอย่าง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ตามผลสำรวจได้กำหนดพื้นที่ “ทางน้ำหลาก” ไว้ถึง 19 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, ชัยนาท, นครนายก, นครปฐม, นครสวรรค์, นนทบุรี, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, พิจิตร, ลพบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สระบุรี, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, อ่างทอง และอุทัยธานี

ซึ่งทั้ง 19 จังหวัดจะมีพื้นที่เพียงบางส่วนในระดับตำบลเท่านั้นที่โดนน้ำหลาก และไม่ได้โดนทั้งตำบล

เฉพาะ กทม.มีพื้นที่น้ำหลาก 43 เขต เช่น เขตจตุจักร มีทางน้ำหลากที่แขวงจตุจักรและลาดยาว, เขตดอนเมือง มีทางน้ำหลากแขวงดอนเมืองและสีกัน, เขตบางกะปิ มีทางน้ำหลากแขวงคลองจั่นและหัวหมาก, เขตบางนา มีทางน้ำหลากแขวงบางนาเหนือและบางนาใต้, เขตวังทองหลาง มีทางน้ำหลากที่แขวงพลับพลา, เขตห้วยขวาง มีทางน้ำหลากที่แขวงบางกะปิ เป็นต้น

ผังน้ำจะเป็นข้อมูลให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่นำไปใช้ประกอบการพิจารณาออก “ใบอนุญาตก่อสร้าง”

มาตรา 56 กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือกระแสน้ำ หรือสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ

ดังนั้น หากโฉนดที่ดินของใครโดนทางน้ำหลาก พื้นที่น้ำนอง พื้นที่ลุ่มต่ำ ก่อน อบต. หรือ อบจ.ออกใบอนุญาตก่อสร้างต้องให้เจ้าของที่ดินทำการออกแบบ และทำแผนมายื่นให้ดูว่าจะทำอย่างไร ให้ตั้งโรงงาน ก่อสร้างบ้านได้ โดยไม่กระทบต่อการไหลผ่านของน้ำ

ส่วนใครที่ซื้อที่ดินหวังเก็งกำไรต้องตรวจสอบให้ดี เพราะนักอสังหาริมทรัพย์บอกไว้แล้วว่า ที่ดินตรงไหนเป็นทางน้ำไหลผ่าน คงไม่ต้องการ….โอกาสในการซื้อขายเปลี่ยนมือคงลำบาก ที่ดินที่ซื้อมาถูก หวังขายได้ราคาสูงอาจจะน้ำตาตกในแทน