อะไรใหญ่กว่ากัน… จีนหรืออเมริกา ?

จีน-อเมริกา
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีข้อถกเถียงมากมาย ว่าจีนหรือสหรัฐกันแน่ที่เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และคำถามนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจวบจนทุกวันนี้ ซึ่งในบทความนี้ เราจะมาดูกันว่าทำไมคำถามนี้ถึงเป็นคำถามที่ตอบได้ยากนักเหตุผลแรกอาจเป็นเพราะนิยามในการวัดความใหญ่ไม่ได้ตายตัว เพราะถ้าพูดถึงอาณาเขต สหรัฐก็ใหญ่กว่าจีนที่ 9.8 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบกับ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตรของจีน แต่ถ้าพูดถึงขนาดของเศรษฐกิจ ก็จะมีความคลุมเครืออยู่บ้าง เนื่องจากโดยปกติแล้วการวัดขนาดเศรษฐกิจจะใช้ GDP ในการวัด และถ้าจะเปรียบเทียบระหว่างประเทศก็ต้องแปลงมูลค่า GDP ของแต่ละประเทศให้เป็นสกุลเดียวกันเสียก่อน

ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนสองตัวที่สามารถใช้ในการแปลงสกุลเงินแต่ละประเทศให้เป็นสกุลเดียวกันได้ก็มี (1) อัตราแลกเปลี่ยนตลาด (Market Exchange Rates) และ (2) อัตราแลกเปลี่ยนแบบ PPP (Purchasing Power Parity) โดยอัตราแลกเปลี่ยนตลาดจะแปลงสกุลเงินอื่นมาเป็นดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่
ตลาดใช้อยู่ ณ เวลานั้น (Spot Rates) ในขณะที่ PPP จะจัดการกับความแตกต่างของระดับราคาสินค้าและบริการในแต่ละประเทศ โดยการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศหนึ่งสามารถซื้อสินค้าและบริการในจำนวนเท่ากันได้เมื่อแปลงเป็นสกุลเงินอีกประเทศหนึ่งแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อใช้อัตราแลกเปลี่ยนตลาดคำนวณ GDP เศรษฐกิจของสหรัฐก็ใหญ่กว่าของจีน แต่ถ้าใช้ PPP เศรษฐกิจของจีนก็โตเกินของสหรัฐไปแล้ว

อัตราแลกเปลี่ยนทั้งสองนี้มีประโยชน์ที่แตกต่างกัน อย่างอัตราแลกเปลี่ยนตลาดก็เหมาะกว่าในการดูอำนาจระหว่างประเทศ นี่เป็นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนตลาดทำให้เราเห็นได้ทันทีว่าจำนวนเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งสามารถ
ซื้อสินค้าและบริการจากต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน แถมมูลค่ารายได้ของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ก็ใช้อัตราแลกเปลี่ยนตลาดในการคำนวณด้วย

อย่างไรก็ตาม อัตราแลกเปลี่ยนนี้มีความผันผวนสูง ซึ่งแปลว่ามูลค่า GDP ที่คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนตลาดจะเปลี่ยนแปลงได้บ่อย แม้ GDP จริง ๆ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะ ในอีกด้านหนึ่ง PPP จะค่อนข้างเสถียรกว่า และเหมาะสำหรับการวัดอำนาจการซื้อและความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้คนในประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น รายได้ในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่ดูค่อนข้างต่ำนั้น ความจริงแล้วอาจจะไม่ได้ต่ำอย่างที่คิด เมื่อลองเทียบกับราคาสินค้าและบริการในประเทศที่ค่อนข้างถูก ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยน PPP ช่วยทำให้เราเห็นได้ว่าประเทศหนึ่งมีความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการในประเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาและขยายอำนาจ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน หรือการใช้จ่ายเกี่ยวกับการทหารได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อสองอัตราแลกเปลี่ยนมีประโยชน์ที่แตกต่างกันแบบนี้ การเลือกว่าตัวไหนดีกว่ากันก็ยากแล้ว ดังนั้น การตอบว่าจีนหรือสหรัฐใหญ่กว่ากันก็ยากเข้าไปอีก

ADVERTISMENT

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การเลือกประเทศที่ใหญ่สุดเป็นเรื่องยาก ก็เพราะมีประเด็นเรื่องขนาดของประเทศที่เป็นพันธมิตรเข้ามาเกี่ยวด้วย อย่างถ้าดูจีนประเทศเดียว ภาคอุตสาหกรรมของจีนก็ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก และนี่ก็อาจบ่งบอกว่าจีนมีอำนาจเหนือสหรัฐในด้านการผลิต

แต่ถ้าให้ดูประเทศพันธมิตรของจีนกับสหรัฐแล้ว จีนก็อาจจะไม่ได้มีอำนาจเหนือสหรัฐสักเท่าไร

ADVERTISMENT

เนื่องจากตามรายงานของ Capital Economics สหรัฐมีพันธมิตรเป็นประเทศหลักของโลกเยอะ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย หรือเม็กซิโก เทียบกับจีนที่มีพันธมิตรเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เล็ก ๆ ซะส่วนใหญ่ ซึ่งนี่ก็ทำให้ โดยรวมแล้ว ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐกับประเทศพันธมิตรมีขนาดที่ใหญ่กว่าของจีนและพันธมิตร

โดยสรุปแล้ว การที่เรายังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่าประเทศไหนใหญ่กว่ากัน ก็มาจากเหตุผลต่าง ๆ เช่น นิยามของขนาดเศรษฐกิจและมาตรฐานการชี้วัดอำนาจที่คลุมเครือ ดังนั้น เราคงยังต้องดูต่อไปเรื่อย ๆ ว่าประเทศไหนจะกลายเป็นมหาอำนาจในทุกด้านจนไม่มีใครสามารถคัดค้านได้