
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : กฤษณา ไพฑูรย์
ได้มีโอกาสคุยกับ ดร.อ้อ หรือ “ดร.ถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย” เจ้าของ บริษัท ฟาร์มสุขดอกไม้ไทย จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ปลูกและจำหน่ายดอกไม้ไทยกินได้ หลากหลายชนิด เพื่อนำไปจัดแต่งบนจานอาหารหรูระดับพรีเมี่ยม ของโรงแรมระดับ 5 และ 6 ดาว ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มขนาดใหญ่ ทำให้ได้ความรู้มามากมาย
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ดร.อ้อได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงนักวิจัยงานด้านเกษตรของหน่วยราชการต่าง ๆ รวมทั้งมีเพื่อนเป็นเครือข่ายเกษตรกรในหลายประเทศ ก่อนจะผันตัวเองมาทำธุรกิจส่วนตัว
ดร.อ้อ ชี้ให้เห็นปัญหาการทำเกษตรในบ้านเราที่ยังมีปัญหา “ผลผลิตล้นตลาด” อยู่ตลอดเวลา ทั้งที่หลายหน่วยงานภาครัฐมักพูดว่า “ใช้การตลาด นำการผลิต” เพราะประเทศไทยยังไม่มีการจัด “โซนนิ่ง” การปลูกพืช ผัก ไม้ผล ปลูกพืชไร่กันอย่างจริงจัง เหมือนกับหลายประเทศ
พร้อมยกตัวอย่างรูปธรรมของประเทศ “ไต้หวัน” โดยรัฐบาลมีนโยบายออกมาควบคุมวางแผนการปลูกพืชแต่ละชนิดชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เช่น พืช ไม้ผลชนิดนี้ จะให้เกษตรกรปลูก 3 คน ในพื้นที่บริเวณใดที่เหมาะสม จะไม่เพิ่มให้อีก
เกษตรกร 1 คนจะให้ปลูกพืชได้เพียง 3 ชนิด แบ่งเป็นพืชตัวหลัก และพืชตัวรอง โดยเกษตรกรต้องไปขึ้นทะเบียนแจ้งพื้นที่ปลูกด้วย ว่ามีกี่ไร่ อยู่บริเวณใด
หลังจากนั้นรัฐบาลจะจัดสรรโควตา และขายเมล็ดพันธุ์ให้ เพื่อรัฐบาลจะสามารถคำนวณผลผลิตของเกษตรกรคนนี้ได้ว่า จะออกมาปริมาณเท่าไหร่ เพื่อควบคุมไม่ให้สินค้าเกษตรชนิดนั้น ๆ ล้นตลาด เกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชอื่นที่นอกเหนือจากที่แจ้งรัฐบาลไว้ได้ นี่คือ การทำโซนนิ่งทางการเกษตรที่แท้จริง !
แต่หันกลับมาดูประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้รัฐบาลหลายยุคหลายสมัย บอกจะทำเรื่องการจัดโซนนิ่ง นักการเมือง ข้าราชการบินไปดูงานหลายประเทศ ผ่านมาถึงวันนี้ทุกอย่างยังนิ่ง !
เห็นได้จากพืช ไม้ผลใดราคาดี ก็แห่กันไปปลูก เมื่อเกิดปัญหาล้นตลาด แนวทางแก้ไขของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ก็ยังใช้วิธีการเดียวกัน นำงบประมาณ ไปแทรกแซง ซื้อเก็บเข้าคลัง อย่างที่เห็นข่าวกันอยู่เนือง ๆ อย่างล่าสุด “ข้าวเก่าค้างโกดัง”
และที่น่ากังวล “ทุเรียน” ไม้ผลเศรษฐกิจมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ที่ขยายการปลูกกันทั่วทุกภาค เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน หรือประมาณปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียน 839,000 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตที่ 643,000 ไร่ แต่ปัจจุบันผ่านมาแค่ 5 ปี พื้นที่ปลูกทุเรียนยืนต้นเพิ่มมาเป็น 1,340,000 ไร่ คือเพิ่มขึ้นมา 5 แสนไร่ หรือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงมูลค่าการส่งออกใน 5 ปี จากปี 2560 อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มขึ้นมาเป็น 110,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมา 5 เท่า !
โดยผู้คนในทุกแวดวงโดดลงมาปลูกทุเรียน ไม่ใช่เพียงแต่เกษตรกร โดยทุกคนหวังจะขายให้ตลาดหลักจีน แต่วันนี้จีนเองเริ่มปลูกทุเรียน ประเทศเพื่อนบ้าน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว ต่างก็โหมกันปลูก
ที่สำคัญทุเรียนเป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำมากในช่วงโค้งสุดท้ายของผลผลิต แต่ทุกพื้นที่ปลูกกันโดยไม่สนใจว่ามีน้ำเพียงพอหรือไม่ ดังที่กำลังเผชิญปัญหาภัยแล้งอย่างที่เห็นกันในปีนี้
พืชไร่ ไม้ผลไทย หากยังคงปลูกกันไปอย่างไร้ทิศทาง อนาคตคงไม่สดใสอย่างที่คาดหวังกัน ดังนั้น ใครจะตัดสินใจลงทุนอะไร ควรศึกษาข้อมูลกันให้ดี ๆ