คอลัมน์ CSR Talk โดย พัทธ์ธีรา วงศราวิทย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
บทบาทของภาคธุรกิจในการสนับสนุนการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่สำคัญของโลกในความพยายามผลักดันให้เกิด “ระบบเศรษฐกิจแบบวงรอบ” หรือ “ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy)” ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จนนำมาสู่การปราศจากของเสีย และมลพิษ ตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ
โดยเมื่อเดือนมกราคมผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้ “2018 Circular Economy Action Package” ซึ่งครอบคลุมเป้าหมาย และนโยบายในการลดขยะพลาสติก การลดการฝังกลบขยะ (landfill) และเพิ่มปริมาณการรีไซเคิล
ผลตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า “circular economy” กำลังถูกผลักดันอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐ และภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคยุโรป และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต “circular economy” จะถูกนำมาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเดิม (linear economy) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ (ทรัพยากร)-ผลิต-ทิ้ง (take-make-dispose)
โมเดลธุรกิจ และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ “circular economy” ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ โดยเริ่มจากการทบทวนห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของตนเอง การตั้งวิสัยทัศน์ของธุรกิจในการตอบสนองต่อ “circular economy” และเรียนรู้ที่จะนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ในหลายเรื่องด้วยกัน
1) Circular Design – มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ผู้ใช้สามารถซ่อมแซม อัพเกรด ปรับปรุง หรือตกแต่งใหม่ได้ รวมถึงออกแบบให้เอื้อต่อการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ง่าย หลังจากที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งโมเดลธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวต้องอาศัยการวางแผนเชิงกลยุทธ์ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ไปใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด
2) Circular Supplies – การนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (biobased materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการเกิดของเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตปัจจุบันโมเดลธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก และมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว เช่น IKEA Sweden เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ และขวดพลาสติก PET รีไซเคิล รวมถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นพลังงานหลักใน IKEA Store ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
3) Product as a Service – โมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ หรือสินค้ามาให้บริการในรูปแบบการเช่าหรือการจ่ายเมื่อใช้งาน (pay-for-use) แทนการซื้อขาด ซึ่งเป็นการลดภาระ
ผู้ซื้อในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็น และทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น Philips พัฒนาโมเดลธุรกิจ “Philips Circular Lighting” โดยให้บริการจัดหา ติดตั้ง บำรุงรักษา และอัพเกรดอุปกรณ์ให้แสงสว่างทั้งหมดให้แก่ผู้ใช้บริการเพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายสินค้า และผลิตภัณฑ์เท่านั้น
ไม่เพียงแต่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้บริการ แต่ยังช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งหลอดไฟได้อีกด้วย
4) Sharing Platform -มุ่งเน้นการใช้ และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อใช้ผลิตภัณฑ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยธุรกิจที่นำ sharing platform ไปใช้ เช่น บริการแบ่งปันพื้นที่ หรือสถานที่ทำงานร่วมกัน (coworking spaces) การเช่าพื้นที่ระยะสั้น การเช่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือบริการร่วมเดินทาง (ridesharing) ที่ให้ผู้โดยสารใช้รถร่วมกัน เพื่อลดปัญหาการจราจร การปล่อยมลพิษ และการใช้พื้นที่ในการจอดรถ
5) Resource Recovery – การออกแบบให้มีระบบนำกลับ (take-back system) ในกระบวนการเพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ถูกกำจัด ซึ่งยังสามารถใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการใหม่ เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด
ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ต่างมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการสร้างระบบนิเวศของ “circular economy” ทั้งในการสนับสนุนโมเดลธุรกิจในข้างต้น ซึ่งการก่อให้เกิดการสื่อสารในช่องทางใหม่ ๆ การพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่ลดลง ได้แก่-Digital Technologies – การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูล และการสื่อสาร เช่น big data, blockchain และ internet of things (IOT) เป็นต้น ได้ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยในการติดตามข้อมูลการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโมเดลธุรกิจ sharing platform ก็ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน
-Physical Technologies – เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของวัสดุและพลังงาน เช่น เทคโนโลยี 3D-printing nanotechnology สามารถช่วยในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทานและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ จึงลดการเกิดของเสียในกระบวนการ ขณะที่เทคโนโลยี robotics ทำให้การผลิตมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
-Biological Technologies -เทคโนโลยีด้านโครงสร้างทางชีวภาพ เช่น bioenergy biobased materials hydroponics สามารถนำมาใช้พัฒนาวัสดุทดแทนที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยให้ธุรกิจลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เทคโนโลยีในกลุ่มนี้จึงมีบทบาทในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ
โมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกกล่าวถึง และมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม circular economy ได้เริ่มถูกนำมาใช้แล้วเช่นกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่ารูปแบบธุรกิจและเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน ไปพร้อมกับช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจจึงไม่สามารถมองประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัวได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมกับแสวงหาโอกาสจากความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจไปพร้อมกัน