Bye Bye “ทีวีแอนะล็อก”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สร้อย ประชาชาติ

16 มิ.ย. 2561 เป็นอีกวันสำคัญในแวดวง “โทรทัศน์” ของบ้านเรา ด้วยเหตุว่า สถานีโทรทัศน์ “ไทยพีบีเอส” สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก “ช่อง 7” สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก “ททบ. 5” จะยุติการแพร่ภาพฟรีทีวีระบบแอนะล็อกครบทั่วทั้งประเทศ แล้วออกอากาศเพียงระบบเดียวผ่านทาง “ทีวีดิจิทัล” 

หลังจาก “ไทยพีบีเอส” ได้เริ่มทยอยยุติการแพร่ภาพในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2558 และช่องอื่น ๆ เริ่มทยอยยุติตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งพื้นที่โซนสุดท้ายที่จะถูกยุติการแพร่ภาพระบบแอนะล็อกของทั้ง 3 ช่อง ล้วนเป็นพื้นที่ประชากรหนาแน่น อาทิ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ภูเก็ต ขอนแก่น

ขณะที่อีก 1 เดือนถัดไป 16 ก.ค. 2561 บมจ.อสมท “ช่อง 9 MCOT” และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ “ช่อง 11” ก็จะยุติการแพร่ภาพระบบแอนะล็อกทั้งหมดทั่วประเทศแล้วเช่นกัน เท่ากับว่า จะเหลือแต่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสี “ช่อง 3” เพียงรายเดียวที่ยังคงจะแพร่ภาพในระบบแอนะล็อกควบคู่กับระบบดิจิทัลไปจนถึงวันที่ 23 มี.ค. 2563 ทั้งยังไม่มีทีท่าจะย่นเวลาการยุติระบบแอนะล็อก ตามสัมปทานให้เร็วขึ้น เหมือน “ช่อง 7” ได้ยุติแอนะล็อกแล้วทั้งที่กว่าจะหมดสัมปทานก็คือปี 2566

การยุติการแพร่ภาพระบบแอนะล็อกของฟรีทีวี จะทำให้เกิดผลเช่นไรบ้าง ในแง่ของผู้ประกอบการเจ้าของช่อง คือ ช่วยลดต้นทุน จากที่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับออกอากาศ 2 ทาง ก็เหลือแค่ในระบบทีวีดิจิทัลแค่ทางเดียว พื้นฐานสุด ๆ แค่ค่าไฟสำหรับหล่อเลี้ยงอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็ประหยัดไปได้เดือนละหลายล้านบาท/ช่อง

ในฝั่งผู้ชม ซึ่ง กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ประเมินว่า ผู้ที่ยังดูทีวีแอนะล็อกโดยตรงแบบที่ยังใช้เสาหนวดกุ้ง-ก้างปลาต่อกับจอทีวี น่าจะเหลือไม่ถึง 5% เพราะตั้งแต่เริ่มทยอยยุติการแพร่ภาพระบบแอนะล็อกตั้งแต่ ธ.ค. 2558 จนถึงปัจจุบัน ไม่มีผู้ร้องเรียนเข้ามายัง กสทช.เลย

ทั้งก่อนจะเริ่มออกอากาศทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิทัลในปี 2557 ฐานคนดูทีวีในไทยที่เป็นแอนะล็อกโดยตรงมีเพียง 25% ที่เหลือเป็นการดูฟรีทีวีผ่านจานดาวเทียมและเคเบิลทีวีถึง 75% ขณะที่โครงข่ายสำหรับแพร่ภาพทีวีดิจิทัลปัจจุบันครอบคลุมกว่า 95% ของประชากรแล้ว และด้วยการแจกคูปองส่วนลด 690 บาทสำหรับซื้อกล่องทีวีดิจิทัลเพื่อมาใช้ต่อกับจอทีวีเดิมเพื่อรับชมทีวีดิจิทัลก็มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 9.9 ล้านครัวเรือน

ดังนั้นท่านที่ยังดูฟรีทีวีผ่านระบบแอนะล็อกเดิม สังเกตง่าย ๆ คือ เปิดทีวีแล้วรับชมได้แค่ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 ไทยพีบีเอส และช่อง 11 แบบภาพแตก ๆ ไม่ชัดเป๊ะเห็นรอยตีนกาหรือรอยย่นที่คอดาราทั้งหลาย นั่นแสดงว่ายังดูฟรีทีวีแบบแอนะล็อก (ถ้าไม่ใช่ ก็สบายใจได้ ท่านจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ) หลังจากวันที่ 16 มิ.ย. 2561 ในจอทีวีของท่านจะดูได้เฉพาะช่อง 3

ช่อง 9 และช่อง 11 แถมพอหลังวันที่ 16 ก.ค. 2561 หน้าจอทีวีของท่านจะเหลือแค่ “ช่อง 3” ให้ได้ดู ถ้ามีความสุขกับทีวีแค่ช่องเดียว ก็ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม จนกว่าจะถึง 23 มี.ค. 2563 (ยกเว้นว่า ช่อง 3 จะเปลี่ยนใจ ยุติออกอากาศทีวีแอนะล็อกก่อนหมดสัมปทาน) จากนั้นทีวีเดิมของท่านถึงจะไม่เหลือช่องทีวีอะไรให้ดูอีกต่อไป

แต่ถ้าช่องที่เหลืออยู่ยังให้ความบันเทิงไม่จุใจ มี 3 ทางเลือก คือ 1.ถ้าทีวีเครื่องเดิมยังใช้งานได้ดี และยังมีเสาหนวดกุ้งหรือก้างปลาเดิมที่รับสัญญาณช่องไทยพีบีเอสได้ (รุ่นที่โบราณก่อนยุคมีช่องไทยพีบีเอส มีความเสี่ยงสูงว่าจะรับสัญญาณทีวีดิจิทัลไม่ได้…ควรจะซื้อใหม่) ก็เดินไปห้างค้าปลีกหรือร้านสะดวกซื้อแถวบ้าน ขอซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล ราคา 690 บาทมีหลายยี่ห้อ แล้วเอามาต่อกับทีวีเครื่องเดิม (แม้จะเป็นทีวีจอตู้ที่แมวนอนเล่นบนหลังทีวีได้ก็ยังใช้ได้)

2.ซื้อทีวีเครื่องใหม่ที่รับสัญญาณทีวีดิจิทัลในตัวได้ ตอนนี้เป็นช่วงฟุตบอลโลก แต่ละแบรนด์กระหน่ำลดราคากันเต็มสูบ 5,000 กว่าบาทก็ได้จอใหญ่พอตัว (ถ้าไม่มีเสาอากาศก็ซื้อมาด้วยเลย) 3.ซื้อจานดาวเทียมและกล่องมาติด แบบนี้ก็จะได้ดูทั้งฟรีทีวีและช่องทีวีดาวเทียมอื่น ๆ เพิ่ม ก็เลือกผู้ให้บริการเอาตามที่ชอบใจ แต่ช่องทางนี้ความละเอียดหน้าจอจะไม่ชัดเป๊ะเว่อร์ สมกับเป็นดิจิทัลเท่าใด (แต่ก็ยังชัดมาก)

สำหรับใครที่ยังงง ๆ ว่าจะทำอย่างไร แนะนำดูอินโฟกราฟิกอันนี้ เข้าใจง่ายดี

http://bcp.nbtc.go.th/uploads/items/attachments/b2f627fff19fda463cb386442eac2b3d/_1badd7365a0a0dfa93682dfb2b396a94.pdf

จากนี้ก็ขอให้มีความสุขกับ 26 ช่องทีวีดิจิทัล แต่ถ้าคอนเทนต์ยังไม่ถูกใจ กดดู YouTube LINE TV ผ่านสมาร์ทโฟนแทนเอาก็ได้ มีคอนเทนต์ดี ๆ ทั่วโลกให้ได้ดูฟรีเหมือนกัน