อยู่ไม่ต่ำกว่า 10,000 เมกะวัตต์ (MW) จากปกติที่ควรอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หรือ 3,500 MW ก็เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศแล้ว เมื่อค้นดูที่มาของ “ตัวเลข” พบว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าแต่ละปีถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ PDP 2015 ระหว่างปี 2558-2579 หรือทำแผนกันทีละ 20 ปี
ตัวเลขในแผน PDP แต่ละช่วงปีจะบ่งชี้ว่า ในปีนั้น ๆ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั้งของรัฐ (กฟผ.) และเอกชน (IPP-SPP) ใหม่ ๆ เข้ามากี่เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าเก่าถูกปลดจากระบบเท่าไหร่ และสำรองไฟฟ้าจะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ ต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “ค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ” ซึ่งคำนวณมาจากสมมุติฐานการจัดทำค่าพยากรณ์ อาทิ GDP-ตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ-แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEDP) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน-ทางเลือก (AEDP) โดย GDP เฉลี่ยที่นำมาคำนวณตลอดแผนอยู่ที่ 3.94%
ภายใต้แผน PDP 2015 ฉบับล่าสุดนี้จะเน้นไปที่การเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ การกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติ การจัดซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และการดำเนินการตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชนที่มีข้อผูกพัน (commit) กันไว้แล้ว ดังนั้นหากคำนวณค่าพยากรณ์ผิดพลาด วัตถุประสงค์ของแผน PDP ก็จะผิดพลาดไปด้วย
ทั้งนี้ ความผิดพลาดส่วนหนึ่งก็จะถูกสะท้อนออกมาจากกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติมาตั้งแต่ปี 2559 เมื่อปริมาณสำรองไฟฟ้าเริ่มขยับขึ้นมาสูงถึง 35.2% ปี 2560 ที่ 33.9% ปี 2561 ที่ 33.8% ปี 2562 ที่ 36.6% และมาสูงสุดอย่างชนิดที่เรียกว่า มโหฬาร เอาในปี 2567 ที่ 39.4% เลยทีเดียว นั่นหมายถึงมีการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าทั้งของรัฐ คือ กฟผ. กับของภาคเอกชน (IPP/SPP) อย่างสูญเปล่าที่สำคัญก็คือ ไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินเหล่านี้ แม้จะไม่ได้ถูกผลิตออกมา แต่ก็ยังถูก “บวก” เข้าไปอยู่ในค่าไฟฟ้าที่ประชาชนจะต้องจ่ายผ่านในนามของ “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้อยู่ด้วย
กลายมาเป็นตลกร้ายที่ว่า ในแผน PDP 2015 ก็บ่งชี้ชัดถึงความผิดพลาดในการพยากรณ์ที่ปล่อยให้ปริมาณสำรองไฟฟ้า “ล้นเกิน” มาตั้งแต่ปี 2558 อยู่แล้ว ทำไมกระทรวงพลังงานถึงไม่ดำเนินการแก้ไขอย่างทันท่วงที แต่กลับปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นตกมาเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้