กินได้ ไม่ทิ้งกัน Expiry Date ลดขยะเพิ่มอาหาร

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ก้อย ประชาชาติ

หลังจากประกาศเจตนารมณ์ลดขยะอาหาร (food waste) ในประเทศไทย ภายใต้โครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ล่าสุด เทสโก้ โลตัสได้ประกาศยกเลิกระบุวันหมดอายุ (expiry date) บนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สดกว่า 251 รายการ เพื่อช่วยผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร

แคมเปญดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัย พบว่าผู้บริโภค 84% มักทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้ต่อไปอีก เพียงเพราะวันหมดอายุที่ระบุบนฉลากและบรรจุภัณฑ์

เป้าหมายการยกเลิกตีพิมพ์วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ผักผลไม้เพื่อให้ผู้บริโภคลดการทิ้งอาหารสดก่อนเวลาอันควร เป้าหมายนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของกลุ่มเทสโก้ที่ต้องการลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้ภายในปี พ.ศ. 2573

โดยจะใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร” หรือ farm to table ซึ่งเป็นการลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ นอกจากเป้าหมายในการลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจค้าปลีกของเทสโก้เองแล้ว ยังรวมไปถึงการช่วยผู้บริโภคลดขยะอาหารในระดับครัวเรือน

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ในระดับครัวเรือน คือ ความสับสนของผู้บริโภคเกี่ยวกับวันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ โดยจากการวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้บริโภค 84% มักจะทิ้งอาหารที่ยังสามารถรับประทานได้เพียงเพราะวันหมดอายุที่ระบุเอาไว้เท่านั้น

ดังนั้น หนึ่งในวิธีที่ผู้ประกอบการค้าปลีกสามารถช่วยลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็นของผู้บริโภคได้ คือ การระบุวันหมดอายุของสินค้าที่เข้าใจง่ายและสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภค

และสำหรับสินค้าประเภทของสด เช่น ผักและผลไม้ ผู้บริโภคมักจะใช้วิจารณญาณในการตัดสินว่าสินค้ายังสามารถรับประทานได้หรือไม่ จากการพิจารณารูปลักษณ์ภายนอกผ่านการมองด้วยสายตาจับ และดมกลิ่น

ฉะนั้น วันหมดอายุบนสินค้าเหล่านี้จึงไม่มีความจำเป็น และการติดฉลากระบุวันหมดอายุอาจทำให้ผู้บริโภคทิ้งสินค้าทั้ง ๆ ที่ยังสามารถรับประทานได้

เทสโก้ โลตัสจึงได้นำร่องประกาศยกเลิกระบุวันหมดอายุ (expiry date) บนบรรจุภัณฑ์ผักและผลไม้สดกว่า 251 รายการ แต่สินค้าที่ยังคงต้องมีวันหมดอายุอยู่ คือ สลัดพร้อมรับประทาน ซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีการระบุวันหมดอายุ ขณะที่ผักกำและผลไม้ที่จำหน่ายแบบชั่งกิโล ไม่ต้องมีการระบุวันหมดอายุ

และอาหารที่ขายไม่หมดในแต่ละวัน แต่ยังมีคุณภาพดีและสามารถรับประทานได้ “เทสโก้” ได้มอบให้กับองค์กรการกุศลและมูลนิธิเพื่อส่งมอบให้กับผู้ยากไร้ นำร่องทำแล้ว 40 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

เทรนด์ดังกล่าวนี้เป็นกระแสบวกที่ขยายตัวไปทั่วโลก “Wefood” ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เป็นจุดที่สร้างแรงกระเพื่อมได้เป็นอย่างดี เพราะนำอาหารหมดอายุมาวางขาย แต่อาหารนั้น ๆ ยังสามารถรับประทานต่อได้อีก เพื่อลดอาหารจำนวนมหาศาลที่กลายเป็นขยะ ซึ่งในแต่ละปีเดนมาร์กต้องสูญเสียอาหารมากถึง 700,000 ตันต่อปี

การลดขยะเพื่อเพิ่มอาหาร ว่ายังสามารถกินได้ ไม่ทิ้งกัน แม้จะ expiry date กลายเป็นกระแสบวกที่ช่วยโลกได้เป็นอย่างดี