เข้าใจ Competitiveness เปลี่ยนวันนี้เพื่อรอดวันพรุ่งนี้

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

ในรอบปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา Google trend แสดงให้เห็นว่าบุพเพสันนิวาส เป็นคำที่มีคนไทยค้นหามากที่สุด ตามด้วยบอลโลก 2018

เมีย 2018 เลือดข้นคนจาง และสัมปทานหัวใจ ในขณะที่คำว่า “ความสามารถในการแข่งขัน” หรือ “competitiveness” ได้รับความสนใจและมีการค้นหาที่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขัน หรือ competitiveness มีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่และอนาคตของเรามากกว่าที่คิด

competitiveness คือความเก่งและความแกร่งของประเทศ World Economic Forum หรือ WEF ได้ให้นิยามของ competitiveness คือปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางด้านนโยบายและสถาบันที่ส่งผลต่อผลิตภาพการผลิต (productivity)ของประเทศ competitiveness ยังหมายถึงความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือผลกำไรตามความต้องการของตลาดได้โดยที่ไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ง่าย

อีกทั้ง competitiveness ยังมีความเป็นพลวัต ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ดังนั้น การวิเคราะห์ competitiveness ต้องมองเป็นองค์รวมทั้งระบบ ทั้งนี้ทั้งนั้น competitiveness ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของ competitiveness มาอย่างน้อย 58 ปี  ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2506) และได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)

competitiveness เป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นและสามารถสร้างได้ทั้งจากการเพิ่มรายได้และการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มรายได้ต้องมาจากการตอบโจทย์ของผู้บริโภค (pain point) โดยอาศัยการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม การลงทุนในการวิจัยพัฒนาเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเสมือนกำแพงที่ทำให้คู่แข่งหน้าใหม่ไม่สามารถตามทันได้ง่าย แต่สำหรับคู่แข่งที่มีความสามารถใกล้เคียงกันจะต้องมีระบบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อป้องกันการเลียนแบบโดยไม่ได้รับอนุญาต

นอกจากนี้ การเพิ่มรายได้ยังทำได้โดยการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ที่ประทับใจและเลียนแบบได้ยาก เช่น วัฒนธรรม อาหาร ความใส่ใจในการให้บริการลูกค้า ในขณะที่การลดต้นทุนจะเกิดจากนวัตกรรมทางด้านการบริหารจัดการ การผลิต และการให้บริการ เช่นการนำระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) มาใช้ในการผลิตและการให้บริการ

ที่ผ่านมา competitiveness ของอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่มักเน้นด้านการบริหารต้นทุน ในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลกในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาคบริการของไทยมีจุดแข็งอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจ คุณภาพการให้บริการที่ดี และต้นทุนการให้บริการที่ถูก ในภาพรวมไทยมีความสามารถในการแข่งขันระดับปานกลาง และเป็นที่ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิม ค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นและจำนวนแรงงานและผู้บริโภคที่ลดลงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันไทยยังคงขาดความสามารถในด้านการวิจัยพัฒนาและการสร้างนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับรายงาน Readiness for the Future of Production Report 2018 ของ WEF ได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศ legacy ที่มีโครงสร้างการผลิตที่เข้มแข็งในปัจจุบัน แต่ขาดความพร้อมสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต

ภาคการท่องเที่ยวไทยเริ่มเผชิญกับความเสี่ยงด้านความยั่งยืน เนื่องจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่มีมากเกินไปในบางพื้นที่ รายงาน Travel and Tourism Competitiveness Report 2017 จัดอันดับให้ไทยได้อันดับที่ 7 ของโลกทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ แต่ได้รับอันดับที่ 122 ทางด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่บริการด้านสุขภาพต้องมีการปรับสมดุลระหว่างการให้บริการชาวไทยกับชาวต่างชาติ รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2017 แสดงให้เห็นว่าความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ของไทยอยู่ในอันดับที่ 60 จากทั้งหมด 61 ประเทศ ดังนั้น ถ้าไทยไม่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ competitiveness ที่เคยมีอยู่ก็จะหายไปพร้อมกับโอกาสที่ไทยจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขสำหรับ competitiveness ใหม่อย่างเร่งด่วน ถ้าหากต้องการหลุดพ้นจากกับดับรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่พัฒนาซึ่งมีรายได้สูง โดยการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีของโลก การต่อยอดจากจุดแข็งเดิม และการปรับพื้นฐานสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนา competitiveness ใหม่ ๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ไทยต้องพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล ข้อมูล และ AI ไทยต้องใช้จุดแข็งในการเป็นฐานการผลิตระดับโลก เพื่อรองรับการผลิตของอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอากาศยาน และเครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมกับการยกระดับการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมควบคู่ไปด้วย

ในขณะเดียวกันไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีฐานการบริการทางการแพทย์ระดับโลก และมีความเป็นไทยที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้สามารถพัฒนาเป็นเศรษฐกิจฐานชีวภาพ อุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร และการท่องเที่ยวที่หลากหลายและมีอัตลักษณ์ความเป็นไทย

ทั้งนี้ ไทยต้องสร้างบุคลากรให้มีความพร้อมทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในด้านระบบคมนาคม ด้านพลังงาน ด้านโลจิสติกส์ ด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเครือข่าย5G และด้านข้อมูลต้องมีเสถียรภาพทางการเมือง และมีภาครัฐที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ ไปถึงในระดับความคิดของประเทศไทยในระดับที่ไม่ต่างจากการเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป com-petitiveness ของประเทศต้องได้รับการทบทวนและปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประเทศสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย หากประเทศไทยปรับตัวไม่สำเร็จ จะสูญเสีย competitiveness ที่มีอยู่ โดยที่ปราศจาก competitiveness ด้านใหม่ ๆ มาทดแทน ถ้าหากไร้ซึ่ง competitivenessประเทศไทยก็จะไร้ซึ่งอนาคตเช่นกัน