ข้อมูลเครดิต-วินัยการเงิน และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ธนาคารกรุงไทย

หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม และมีส่วนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บังคับใช้มาตรการที่เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เช่น เกณฑ์ LTV limit สำหรับสินเชื่อบ้าน ที่เริ่มใช้แล้วตั้งแต่ 1 เมษายน 2562 แต่การนำมาตรการลักษณะนี้มาใช้ย่อมมีผลกระทบทางอ้อม และไม่ได้แก้ที่สาเหตุหลักของการเป็นหนี้ ซึ่งงานวิจัยของ ธปท.เองชี้ว่า เกิดจากการขาดวินัยทางการเงินของครัวเรือน

หลายท่านคงตั้งคำถามว่าแล้วจะให้ใช้มาตรการอะไร ถ้าสาเหตุหลักคือเรื่องวินัย บทความนี้จะขอนำงานวิจัยในต่างประเทศชิ้นหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง

ข้อสรุปจากงานวิจัยนี้อาจนำมาใช้เป็นแนวทางสำหรับมาตรการที่จะช่วย “กระตุ้น” ครัวเรือนให้ “ฉุกคิด” ถึงสถานะทางการเงินของตน ซึ่งอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือ การที่ครัวเรือนมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้นได้

งานวิจัยที่ว่านี้ ชื่อว่า “Does knowing your FICO score change financial behavior ? Evidence from a field experiment with student loan borrowers” โดยคณะนักวิจัยจาก New York University, University of Wisconsin-Madison และ University of Chicago ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่กู้สินเชื่อเพื่อการศึกษา (student loan) กว่า 400,000 รายในสหรัฐ เพื่อทดลองดูว่าการทำให้ผู้กู้ “ฉุกคิด” ถึงสถานะทางการเงิน คือ คะแนนเครดิตของตน จะมีผลให้ผู้กู้มีพฤติกรรมทางการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างไร

ในสหรัฐ คะแนนเครดิต (credit score) มีความสำคัญมากต่อการที่จะได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่ง FICO เป็นหนึ่งในบริษัทที่คิดคำนวณคะแนนเครดิตของแต่ละบุคคล จากข้อมูลต่าง ๆ เช่น ประวัติการชำระหนี้ ยอดหนี้ จำนวนบัญชีสินเชื่อ ประเภทสินเชื่อ ฯลฯ ดังนั้น คะแนนเครดิตโดยบริษัท FICO (FICO Score) จึงเป็นเสมือนตัวบ่งบอกสถานะทางการเงินของบุคคลนั้น ๆ

ในงานวิจัย ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะได้รับอีเมล์ 1 ครั้งทุก ๆ 3 เดือน แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้คุณสามารถเข้าไปดูคะแนนเครดิตล่าสุดของคุณได้แล้ว และมีลิงก์ในอีเมล์ให้แต่ในอีเมล์ไม่ได้บอกว่าคะแนนเป็นเท่าไหร่ ส่วนกลุ่มที่สองจะไม่ได้รับอีเมล์แจ้งเตือนใด ๆ เลย ทั้งนี้ ทุกคนสามารถเข้าไปดูคะแนนเครดิตได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตามลิงก์ในอีเมล์เพียงวิธีเดียว

ผู้วิจัยต้องการทราบว่า 2 กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมทางการเงินที่แตกต่างกันหรือไม่ กลุ่มที่ได้รับอีเมล์ “กระตุ้น” ให้ “ฉุกคิด” จะมีพฤติกรรมอย่างไร

ผลออกมาว่ากลุ่มที่ได้รับอีเมล์ดูเหมือนจะมีวินัยทางการเงินที่ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน หลังจากมีการส่งอีเมล์ทั้งหมด 8 ครั้ง (ช่วงปี 2558-2560)

ผู้วิจัยพบว่า กลุ่มที่ได้รับอีเมล์มีอัตราการค้างชำระหนี้เกิน 30 วัน และอัตราการค้างชำระหนี้เกิน 60 วัน ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับถึง 4% นอกจากนี้ คะแนนเครดิตของกลุ่มที่ได้รับอีเมล์ก็สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับอีกด้วย ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับอีเมล์ไม่ได้เปิดอีเมล์กันทุกคน จริง ๆ แล้วเปิดอ่านเพียง 48% เท่านั้น

ผู้วิจัยคำนวณว่าสำหรับในกลุ่มที่ได้รับอีเมล์และมีการเปิดอ่านจริง ๆ อัตราการค้างชำระหนี้เกิน 30 วัน และอัตราการค้างชำระหนี้เกิน 60 วัน ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับถึง 9% ดีกว่าผลภาพรวมกว่า 2 เท่า และสำหรับกลุ่มที่คลิกลิงก์ไปดูคะแนนเครดิตด้วยแล้ว อัตราการค้างชำระหนี้เกิน 30 วัน และเกิน 60 วัน ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับถึงประมาณ 50%

อีกผลลัพธ์ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มที่ได้รับอีเมล์มีการเปิดบัญชีบัตรเครดิตมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับอีเมล์ แม้กระนั้นก็ตาม คะแนนเครดิตของกลุ่มที่ได้รับอีเมล์ก็สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับอีเมล์อยู่ดี แสดงให้เห็นว่าการที่กลุ่มได้รับอีเมล์เปิดบัญชีบัตรเครดิตมากกว่าไม่ได้นำไปสู่วินัยทางการเงินที่แย่กว่า การไปจำกัดการเปิดบัญชีสินเชื่อจึงอาจเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด

อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านอาจสงสัยว่าเนื้อหาในอีเมล์คืออะไร มีผลหรือไม่

ผู้วิจัยมีเนื้อหาในอีเมล์ 3 แบบด้วยกัน แบบแรก บอกว่าคะแนนเครดิตล่าสุดของท่านพร้อมให้เข้าไปดูแล้ว และอธิบายสั้น ๆ ว่าคะแนนเครดิตเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน แบบที่สอง มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของคะแนนเครดิต เช่น อาจมีผลต่อดอกเบี้ย ส่วนแบบที่สาม จะมีข้อความเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ เช่น คุณสามารถเพิ่มคะแนนเครดิตได้เหมือนคนอื่น ๆ

ผลการวิจัยชี้ว่าเนื้อหาในอีเมล์ไม่ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของกลุ่มที่ได้รับอีเมล์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่คำอธิบายที่ให้เพิ่มเติม หรือการชักชวนให้เห็นถึงการเปรียบเทียบกับคนอื่น แต่เป็นการได้รับอีเมล์แจ้งเตือน ซึ่งผู้วิจัยอธิบายว่าการสามารถทำให้ผู้กู้ “ฉุกคิด” เป็นการลด over-optimism หรือการมองโลกในแง่ดีเกินไปเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตน และลด over-confidence หรือการมีความเชื่อมั่นมากเกินไปเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของตน จึงเป็นการทำให้ผู้กู้มีมุมมองที่ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการมีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นหลายประเด็นที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรณีของประเทศไทย

ประเด็นแรก ครัวเรือนไทยมีโอกาสได้รับทราบข้อมูลสถานะทางการเงินที่ครบถ้วนแล้วหรือยัง ? ครบถ้วนในที่นี้ หมายถึง การรับทราบข้อมูลทุกบัญชีสินเชื่อจากทุกสถาบันการเงินในคราวเดียวกัน นอกจากครัวเรือนส่วนน้อยที่ทำบัญชีครัวเรือน และขอรายงานข้อมูลเครดิตด้วยตนเองจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้เห็นประวัติการชำระหนี้ทุกบัญชีสินเชื่อแล้ว เชื่อว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลที่จะช่วยให้เห็นภาพรวมสถานะทางการเงินที่แท้จริง

ในปัจจุบัน แม้ผู้มีบัญชีสินเชื่อจะได้รับรายงานเป็นจดหมายปีละครั้งจากสถาบันการเงิน เกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ที่ได้มีการส่งให้กับ NCB แต่รายงานนี้ไม่ได้ให้ภาพรวมของทุกบัญชีสินเชื่อ แม้ผู้กู้จะมีหลายบัญชีสินเชื่อในสถาบันการเงินเดียวกันก็ตาม จึงเป็นการยากที่จะมีมุมมองที่ครบถ้วน ดังนั้น การปรับปรุงการให้ข้อมูลสถานะทางการเงินกับครัวเรือนในส่วนนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์

ประเด็นที่สอง การสื่อสารจากสถาบันการเงินเข้าถึงครัวเรือนหรือไม่ ?

ในปัจจุบันประวัติการชำระหนี้ที่เป็นข้อมูลเครดิตที่ได้รับรายงานจากสถาบันการเงินยังเป็นจดหมาย ซึ่งไม่ใช่วิธีการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ การเพิ่มวิธีการสื่อสารเป็นรูปแบบอีเมล์ หรือรายงานผ่านแอปพลิเคชั่น น่าจะเข้าถึงได้ดีกว่า เพราะเพียงการ “กระตุ้น” ให้ครัวเรือนได้ “ฉุกคิด” ก็มีผลดีแล้ว การปรับวิธีการสื่อสารเป็นมาตรการที่ใช้ต้นทุนต่ำ และเริ่มทำได้เร็ว จึงน่าจะเป็นแนวทางที่นำมาทดลองเพื่อดูว่าครัวเรือนไทยจะตอบรับในทิศทางที่ดีเหมือนกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยหรือไม่

ประเด็นที่สาม การสื่อความด้านเครดิตง่ายต่อการเข้าใจหรือไม่ ? งานวิจัยชิ้นนี้กล่าวว่า การมีตัวเลขคะแนนเครดิตที่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้เป็นเครื่องมือที่ช่วยครัวเรือนในการตั้งเป้าหมายทางการเงิน และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการต้องติดตามหลาย ๆ ตัวเลข

สำหรับประเทศไทยการใช้คะแนนเครดิตยังไม่แพร่หลายมากนัก แม้ทาง NCB จะมีการพัฒนาเครดิตสกอริ่ง (NCB Score) มาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น ครัวเรือนไทยจึงยังไม่มีตัวแทนคำจำกัดความของสถานะทางการเงินที่สื่อความได้ง่ายและเป็นที่เข้าใจโดยทั่วไป

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ธปท.รายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ที่ 12.83 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 78.6 ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งทุกครั้งที่มีการรายงานตัวเลขหนี้ครัวเรือน ก็มักจะตามมาด้วยความกังวลจากฝั่ง ธปท. รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์หลายท่านที่มองว่า ตัวเลขนี้สูงเกินไปสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จนอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต และยังสะท้อนพฤติกรรมการสร้างหนี้เกินพอดีในสายตาของผู้ที่ห่วงใย

แต่แทนที่จะเริ่มต้นมองหามาตรการใหม่มาควบคุมสินเชื่อ เราควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้ครัวเรือนได้รับทราบถึงสถานะทางการเงินของตน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่า และมีผลกระทบทางอ้อมน้อยกว่าอีกด้วย