ส่องเมือง “ย่างกุ้ง” ยุค “ดิจิทัล”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

 

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนเพิ่งได้มีโอกาสกลับมาเยือนเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ในรอบหลายปีมาก ๆ สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก รวมถึงไลฟ์สไตล์ชาวเมียนมาที่ผันไปตามโลกดิจิทัล ซึ่งจะพบเห็นชาวเมียนมายังนุ่งโสร่ง เดินไปมากันตามท้องถนนต่าง ๆ หิ้วปิ่นโตไปทานข้าวมื้อเที่ยง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ส่วนบรรยากาศในเมืองย่างกุ้ง มีความเป็นโมเดิร์น (สมัยใหม่) มากขึ้น ห้างสรรพสินค้ามีมากขึ้นและสดใสขึ้นแม้แต่ห้างเซ็นทรัลของไทยก็ยังไปเปิดท่ามกลางตึกสูง คอนโดมิเนียมต่างพาเหรดกันก่อสร้างบนทำเลทองถนนหลายสายในเมืองย่างกุ้ง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทะเลสาบ “กันดอว์จี” หรือทะเลสาบหลวง กลางเมืองย่างกุ้ง

เสียงสะท้อนจากไกด์ไทยและไกด์เมียนมา ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ตอนนี้เมืองย่างกุ้งกำลังอยู่ในสภาพที่เหมือนประเทศไทยสมัย 30 ปีก่อนที่อยู่ในช่วงเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองพัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่ราคาที่ดินพุ่งกระฉูดพร้อมยกตัวอย่าง คอนโดมิเนียมที่กำลังก่อสร้าง บนถนนสายหลัก ถ้าเป็นห้องขนาดพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร ราคาพุ่งขึ้นมาหลักสิบล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคนซื้อก็เป็นนักธุรกิจใหญ่ในท้องถิ่นและต่างชาติ

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นเมืองที่ถูกควบคุมความสูงไม่ให้เกิน “เจดีย์ชเวดากอง” ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวเมียนมา จึงยังทำให้คอนโดมิเนียมในเมืองย่างกุ้งไม่ได้เป็นตึกตระหง่านสูงหลายสิบชั้นปรากฏให้เห็นเฉกเช่นคอนโดมิเนียมสูงในประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ส่วนในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหรือไม่ น่าสนใจติดตามดูในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ได้มาสำรวจห้างสรรพสินค้า 5 ชั้น ซึ่งอยู่ตรงข้ามตลาดสก๊อต ที่เป็นย่านช็อปปิ้งของฝาก พบว่า มีความคึกคักกว่าเมื่อ 3-5 ปีก่อนอย่างมาก โดยคนเมืองย่างกุ้งมาเดินเล่นห้างกันมากช่วงสุดสัปดาห์ มีทั้งมาเป็นครอบครัวพาลูกมาเล่นที่ Kid Zone ส่วนฟู้ดคอร์ต ร้านกาแฟ มีลูกค้าแวะเวียนกันไม่ขาดสาย บรรยากาศภายในห้างดูคึกคักสดใส เหมือนคนละโลกกับตลาดสก๊อตทีเดียวที่ดูเงียบเหงา

 

อีกแห่งอยากพูดถึงโรงพยาบาลในย่างกุ้ง เพราะเป็นที่รู้กันว่าคนรวยในพม่าจะเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในประเทศไทยกันค่อนข้างมาก คุณหมอธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือหุ้น THG ซึ่งพาสื่อมวลชนมาชมกิจการโรงพยาบาลที่ THG ลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่นเปิดขึ้นใหม่ ชื่อ โรงพยาบาล Ar Yu International ถือว่าเป็นโรงพยาบาลแรกที่คนไทยเข้าไปลงทุน โดย THG ถือหุ้น 40% และนักธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเมียนมา ชื่อว่า “Go Mone Pwint Company Limited (GMP)” ถือหุ้นราว 50% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มหมอในเมียนมา ซึ่งโครงการนี้ลงทุนมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 2 พันล้านบาท โดยอาคารสูง 11-12 ชั้น จำนวน 100 ห้อง เปิดตั้งแต่มีนาคม 2562

คุณหมอได้เล่าที่มาว่า ปีหนึ่ง ๆ มีคนพม่าราว 600 คนต่อวัน ที่ใช้บริการโรงพยาบาลไทย ทำให้มีความเชื่อใจไว้ใจกับหมอไทยค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกันความต้องการของคนรวยในพม่า ก็ยังอยากให้มีโรงพยาบาลคุณภาพดี ๆ มาเปิดในพม่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนไม่น้อยกว่า 100 แห่ง แต่เป็นโรงพยาบาลใหญ่เพียง 7-8 แห่งเท่านั้น

“ผมมาสำรวจดูตลาดโรงพยาบาลที่ย่างกุ้ง ก็เห็นว่า หากจะทำโรงพยาบาลขนาดใหญ่บริการกลุ่มลูกค้าระดับบน ก็ไม่น่ายาก โดยเน้นพัฒนาบริการคุณภาพและบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการดึงหมอพม่าเก่ง ๆ ที่อยู่เมืองนอก กลับมาทำงานที่บ้านเกิดเมืองนอน การมีเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์รุ่นใหม่ ๆ คุณภาพสูงมาใช้ การสร้างความเชื่อใจไว้ใจด้านการรักษากับหมอใหญ่ ต่อไปคนพม่าก็ไม่ต้องไปถึงไทย เพราะฝั่งเราจะดูแลเรื่องการบริหารจัดการและเทรนนิ่งบุคลากรให้ ส่วนผู้ถือหุ้นฝั่งพม่า จะเน้นเรื่องการทำตลาดหาลูกค้า โดยโรงพยาบาลแห่งนี้เทียบเท่าสมิติเวช บำรุงราษฎร์”

ขณะที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลพาชมห้องพักคนไข้ วี.ไอ.พี. เป็นห้องสูท ราคาพัก (แพงสุด) คืนละ 7,000 บาทต่อคืน ซึ่งคิดเหมารวมค่าอาหารและค่าจ้างพยาบาลเฝ้าแล้ว ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นราคาที่สูงสำหรับคนพม่าโดยทั่วไป ต่างกับโรงพยาบาลในไทย ที่คิดค่าใช้จ่ายแยกเยอะไม่ว่าจะเป็นราคาห้องพัก ค่าอาหารและค่าจ้างพยาบาล และอื่น ๆ เป็นบิลยาว ยอดรวมเบ็ดเสร็จพักคืนหนึ่งไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นบาทแน่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง


อย่างไรก็ตาม คนในเมืองย่างกุ้งก็ถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีคนรวยกระจุก คนจนกระจาย สิ่งที่นำมาเล่าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของคนเมืองในย่างกุ้งเท่านั้น