ประเทศไทยประธานอาเซียน ผลงานโดดเด่นครึ่งปี 2562

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย ประดาป พิบูล ทีมกรุ๊ป

 

ครึ่งปีแรกของปีนี้ ระหว่างที่ปวงชนชาวไทยมีความปลื้มปีติกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และใจจดจ่อกับการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง กระทรวงการต่างประเทศได้ย่างก้าวไปเรื่อย ๆ ด้วยภารกิจของประธานอาเซียน

แต่ภายใต้ร่มเงาของเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่นี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลงานโดดเด่นน่าประทับใจ สามเสาของประชาคมอาเซียนรวมตัวและร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้น เครือข่ายเมืองอัจฉริยะแข็งขันขึ้น และมีการนําเสนอวิสัยทัศน์ใหม่ของอาเซียน 2583

เมื่อต้นปีที่เชียงใหม่ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้ประชุมและหารือเกี่ยวกับปัญหาในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นกิจการภายในของเมียนมา หากแต่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะส่งคณะสำรวจอาเซียนชุดแรกไปรวบรวมความต้องการเบื้องต้น เพื่อจัดทำแผนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและแนวทางส่งผู้พลัดถิ่นกลับสู่รัฐยะไข่

ในด้านการบริหารจัดการชายแดน ซึ่งสำคัญมากต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ไทยยึดนโยบายส่งเสริมความมั่นคงที่ยั่งยืนเพื่อความเชื่อมโยงระหว่างกันที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ มีการประชุมระดับสูงเกี่ยวกับชายแดนของภูมิภาคเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งที่ประชุมได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในสามด้าน คือ แนวนโยบายและกรอบกฎหมายและยุทธศาสตร์ แนวทางรวมตัวที่คำนึงถึงความมั่นคง และการยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการชายแดน ข้อตกลงนี้จะเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดครั้งที่ 35 รับรองในเดือนพฤศจิกายน

สำหรับเสาเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธนาคารกลางอาเซียนได้ปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่จังหวัดเชียงราย และช่วยกันผลักดันความร่วมมือทางการเงินให้คืบหน้า โดยเฉพาะการรับรองแผนพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่ยั่งยืน ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่น เริ่มใช้ระบบช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อาเซียนสำหรับสินค้าเข้าและออกภายในสิ้นปีนี้

และจัดตั้งกองทุนใหม่ภายใต้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียนเพื่อระดมทุนพันล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในด้านดิจิทัล รัฐมนตรีได้รับรองแผนแม่บทดิจิทัลอาเซียน 2025 ฉบับใหม่ เมื่อเดือนมีนาคม ส่วนคณะมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าและบริการอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน รวมทั้งยืนยันที่จะเข้าร่วมการเจรจากรอบอาร์เซ็ป (RCEP) ให้สำเร็จภายในปีนี้ ด้านเสาสังคม มุ่งเน้นที่สิ่งแวดล้อมทางทะเล การประชุมพิเศษระดับรัฐมนตรีได้รับรองปฏิญญากรุงเทพว่าด้วยการขจัดขยะทางทะเลในอาเซียน และกรอบปฏิบัติการอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาขยะทางทะเลเมื่อเดือนมีนาคม เอกสารทั้งสองฉบับจะนำเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดครั้งที่ 34 รับรองในเดือนมิถุนายน เพื่อแสดงให้โลกตระหนักถึงความจริงจังในการแก้ไขและลดขยะทางทะเล

อีกโครงการหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและท้าทายอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตของอาเซียน คือ เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASCN) ซึ่งริเริ่มสมัยสิงคโปร์เป็นประธาน และไทยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายประกอบด้วย เมืองทดลอง 26 เมือง ได้แก่ เมืองหลวงทั้งสิบเมือง รวมทั้งบันยูวังงี พระตะบอง เซบู ชลบุรี ดานัง ดาเวา โฮจิมินห์ ยะโฮร์บาห์รู โกตากินะบะลู กูชิง หลวงพระบาง มะกัสซาร์ มัณฑะเลย์ ภูเก็ต เสียมราฐ และย่างกุ้ง

พันธกิจของเครือข่าย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้สมาชิกอาเซียนสามารถร่วมมือกันพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ไทยมีปลัดกระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้แทนประเทศ และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นฝ่ายเลขานุการ

ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ แต่ละเมืองสามารถจับคู่กับหุ้นส่วนนอกอาเซียนได้ ชลบุรีได้ร่วมมือกับ Yokohama Urban Solution Alliance ด้านบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ และภูเก็ตร่วมงานกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสร้างเมืองที่อัจฉริยะและปลอดภัย การประชุมที่สำคัญในปีนี้กำหนดไว้สองครั้ง คือ เดือนมิถุนายนและสิงหาคม เป็นการประชุมประจำปี เพื่อรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเครือข่าย กรอบการติดตามและประเมินผล และรายชื่อโครงการความร่วมมือกับหุ้นส่วนนอกอาเซียน

ในปัจจุบัน อาเซียนกำลังเผชิญกับการปรับเปลี่ยนอย่างใหญ่หลวงทางภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาคและโลก ตลอดจนการปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัล อาเซียนจะต้องสามารถรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน เป็นที่ยอมรับ สามัคคีอย่างเหนียวแน่นและสงบสุข ในการนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก (ERIA) ได้ทำการศึกษา โดยได้รับแนวทางจากฝ่ายไทยและเสนอแนะวิสัยทัศน์ใหม่ 2583 ให้อาเซียน เพื่อปรับองค์กรให้แกร่งกร้าวและเข้มแข็งมากขึ้น

ผลงานเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฏโดดเด่น และบรรลุเป้าหมายได้เพราะแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของไทย ในฐานะประธานที่ยึดหลักความต่อเนื่อง ความร่วมมือ และความสร้างสรรค์ นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า สมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมั่นและไว้วางใจประธาน อันเป็นการปูพื้นฐานสำหรับลู่ทางโอกาสอันดีเพื่อความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกของประชาคมอาเซียน

ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไป ในครึ่งปีหลังน่าจะได้เห็นบทบาทผู้นำที่เด่นชัดมากขึ้นของไทย ประธานอาเซียน