จี้ล้อมคอกเลี้ยง “นกแอ่น” จัดโซนนิ่ง…ก่อนสายเกิน

จี้ล้อมคอกเลี้ยง “นกแอ่น” จัดโซนนิ่ง…ก่อนสายเกิน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ในวันที่โลกยุคการค้าออนไลน์ก้าวข้ามทศวรรษ เปลี่ยนผ่านทุกสิ่งทุกอย่างแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่หากมองย้อนกลับมาดูความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าในประเทศไทย ยุค 4.0 ที่หน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลย้ำหนักหนานั้น หลายอย่าง “เปลี่ยนผ่าน…แต่เปลือก” (เทคโนโลยี)

แต่วิธีการและกระบวนการให้ได้มาซึ่งเม็ดเงิน ผลกำไรเฉพาะตน ! ของบางคน บางกลุ่มกลับดูเหมือนว่า โลกการค้ายุคใหม่กลับสร้างความเห็นแก่ตัว และเกิดการแก่งแย่ง ช่วงชิงกันอย่างรุนแรง โดยไม่สนใจว่าวิธีการที่ได้มาจะทำลายคู่แข่ง ทำลายชุมชน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร

ขณะที่การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ยังคง “ประสานงา” ต่างคนต่างทำ และยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ กับหลายสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย…ด้วยเหตุผลอะไร…คงไม่ต้องเอ่ยกัน

คำว่า “บูรณาการ” สวยหรูที่ “ข้าราชการน้ำดี” ดูมีความหวัง…ยังถูกวางไว้บนหิ้ง…เมื่อทุกฝ่ายเดินออกจากห้องประชุมร่วมหลายฝ่ายในทางปฏิบัติ !

รูปธรรมสด ๆ ร้อน ๆ ที่ปรากฏชัด เมื่อได้มีโอกาสตามข่าวเรื่อง “รังนกนางแอ่นบ้าน” มูลค่านับหมื่นล้านบาท หลังจากวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ฉบับแก้ไขใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มาตรา 14 ระบุให้ผู้เลี้ยงรังนกบ้านสามารถไปยื่นขอ “ใบอนุญาต” เก็บและครอบครองรังนกบ้าน หรือรังนกคอนโดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วัน หรือประมาณวันที่ 29 ธันวาคม 2562

ระหว่างที่กฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ ผู้เลี้ยงรายเดิม ๆ ได้แห่กันขึ้นบ้านรังนกหรือคอนโดรังนกกันกระหึ่ม โดยที่หลายหน่วยงานองค์กรท้องถิ่นหลายพื้นที่…มิได้มีการห้ามปราม เช่นเดียวกับวันที่กฎหมายยังไม่ไฟเขียว ! มีการนำนกนางแอ่นมาเลี้ยงในบ้าน โดยต่อเติมอาคารที่พักอาศัยหรือสร้างคอนโดสูงขึ้นไป 3-4 ชั้นให้นกอยู่อาศัยกันอย่างเอิกเกริกอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย

โดยผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ล้วนต่อเติมบ้าน-คอนโดรังนกผิดแบบและเสี่ยงอันตราย บางคนยื่นขออนุญาตเป็นบ้านอยู่อาศัย แต่นำอาคารไปใช้เลี้ยงนก ซึ่งตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 “ถือว่าผิดวัตถุประสงค์” และไม่ปลอดภัยในแง่ของฐานรากที่รองรับอาคารด้วย

อีกทั้งบ้านหรือคอนโดนกนางแอ่นที่หลายแห่งแห่ตั้งกันกลางชุมชนนั้น หากถือเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ไม่สามารถตั้งในเขตชุมชนได้ ตาม “พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562” แต่กลับสร้างกันได้ทั่วไป อย่างที่เคยมีข่าวการร้องเรียนของประชาชนแถวเขตบางบอนในกรุงเทพฯหลายปีก่อนว่า มีเพื่อนบ้านนำอาคารพาณิชย์ในพื้นที่มาเลี้ยงนก

รวมถึงปัญหาเรื่องการก่อเหตุรำคาญ กลิ่น เสียง และพาหะนำโรค ตาม “พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2561” ซึ่งมีปัญหาการร้องเรียนจากชาวบ้านหลายพื้นที่เข้ามาโดยตลอด ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรืออย่างมากเรียก “ค่าปรับ” กันน้อยมากหากเทียบกับมูลค่าของรังนกที่ขายกัน ดังตัวอย่างที่ จ.ชุมพร

ด้วยเพราะมูลค่าอันยั่วยวนใจ ทำให้ผู้คนหลายอาชีพหันมายึดการเลี้ยงกันมากมาย ตั้งแต่ก่อนที่กฎหมายยังไม่ไฟเขียว ด้วยเพราะรังนกนางแอ่นบ้านสามารถขายได้ราคา 70,000-100,000 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อหิ้วลักลอบไปขายในประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ที่ผ่านมาสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) ได้รวบรวมตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยกว่า 50 จังหวัด รวมกว่า 10,000 หลัง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคอีสาน มีการเลี้ยงมากกว่าในพื้นที่ภาคใต้ไปแล้ว

แม้วันนี้ “พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ” จะไฟเขียวแล้ว แต่ถือเป็นเพียงกฎหมายฉบับเดียว ! ที่อนุญาตให้เก็บรังนกที่เลี้ยงตามบ้านหรือคอนโดได้ ซึ่งสะท้อนถึงการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี !

แต่กฎหมายหลักอีก 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ยังต้องปรับแก้ไขกันอีกมาก เพื่อควบคุมให้มีการสร้างบ้านรังนกอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษรบกวนชุมชนโดยรอบ และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะต้องมี “การจัดระเบียบโซนนิ่งการเลี้ยง” ไม่ใช่ใครมีที่ดิน อาคารพาณิชย์ตรงไหน หรือตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงไหน มีเงินสร้างบ้านเพื่อดึงนกนางแอ่นเข้ามาเลี้ยง ก็ทำแบบตามอำเภอใจไทยแลนด์อย่างที่ผ่านมา…คงจะไม่ไหว

ขณะที่ผู้ประกอบการที่คิดจะส่งออกรังนกบ้านไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างประเทศจีน ยังมีเงื่อนไขอีกมากมายที่หน่วยงานภาครัฐต้องมาให้ความรู้ความเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเพียงทำถูกต้องตามกฎหมาย 4 ฉบับแล้วจะส่งออกได้ เพราะจีนตลาดหลักมีเงื่อนไขต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ และควบคุมสารปนเปื้อนอันตราย ซึ่งผู้ประกอบการยังต้องลงทุนกันอีกมากถึงจะผ่านหลักเกณฑ์

ดังนั้น วันนี้คงถึงเวลาของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงจะต้องทำงานแบบ “บูรณาการ” กันอย่างจริงจังให้สมกับเป็นข้าราชการยุคออนไลน์กันเสียที ไม่ใช่ทำงานอย่าง “ขอไปที” เหมือนที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการเร่งออกมาเข้มงวดกวดขันจับกุมในช่วง 180 วันอันตราย ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ! ต้นปี 2563