“นวัตกรรมเกษตร” หนีดิสรัปชั่น

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กษมา ประชาชาติ

การดิสรัปชั่นที่เกิดจากเทรนด์ใหม่ ๆ กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วงการเกษตร ซึ่งขณะนี้ต่างฝ่ายต่างมุ่งหาหนทางดิ้นหนีจากการถูกดิสรัปชั่น เหตุผลที่แท้จริงของการดิ้นหนี มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความกลัว” วิธีการเอาชนะความกลัวที่ดีที่สุดคือ การใช้ “ความกล้า” กล้าที่จะก้าวผ่านความกลัว

“การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมทางการเกษตร” ก็ถือเป็นความกล้าประการหนึ่ง แต่ความกล้านี้ต้องใช้ความพยายาม เม็ดเงิน และหลาย ๆ องค์ประกอบ คนที่มีกำลังมากสายป่านยาว ก็ต่อยอดได้มาก ดังจะเห็นจากการพัฒนาตัวเองของบริษัทใหญ่ในวงการเกษตร ซึ่งพยายามกล้าก้าวผ่านคำว่า “สินค้าเกษตรเดิม ๆ” ตามที่หลายคนเคยคิดว่า แค่สินค้าเกษตรมันจะต่อยอดอะไรได้ และก็ขายอยู่อย่างนั้น

วันนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายต่อไปของเค้าคือ การต่อยอดนวัตกรรมสินค้าเกษตร เริ่มพูดถึงสิ่งเรียกกว่า “โปรตีนทางเลือก” ฟังดูแล้วเหมือนภาพฝัน จินตนาการตามไปว่า เราจะมีโปรตีนอะไรที่ไปได้มากกว่าหมู ไก่ ไข่ กุ้ง ที่มีอยู่หรือ ? หรือเป็นเพียงแค่คำเก๋ ๆ ทางการตลาดที่จะมาทำให้ราคาหมู ไก่ ไข่ กุ้ง แพงขึ้นหรือเปล่า

แต่หากมองเทรนด์การพัฒนาทางการเกษตรทั่วโลกจะเห็นว่าเริ่มมีการพูดถึงโปรตีนสกัดจากพืช (plant base) ประยุกต์ให้ตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคยุคใหม่ ซึ่งอาจมีรูปแบบอะไรก็ได้ เป็นแคปซูล เป็นของเหลว หรือเป็นอย่างอื่น ซึ่งก็มีมูลค่าสูงจริง ๆ เพราะการลงทุนช่วงแรก economy of scale น้อย

จากการแถลงนโยบายของซีอีโอ ซีพีเอฟ “ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ” บอกว่า กลยุทธ์ 3 หัวใจ คือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล และการสร้างความยั่งยืน

สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการพัฒนานวัตกรรมนั้น ซีพีเอฟเริ่มโดยการพัฒนาคลังสมองที่เรียกว่า “ศูนย์นวัตกรรม” ขึ้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เติมเม็ดเงินลงทุนไป 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นแค่เสี้ยวเล็ก ๆ ของบริษัทยักษ์ขนาด 5.4 แสนล้านบาท แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปี คือ สินค้านวัตกรรมอาหารที่สามารถนำออกมาวางตลาดได้จริง เช่น อาหารซูเปอร์ฟู้ดสำหรับผู้ป่วย สินค้าเกษตรพื้นฐานอย่างไก่คุณภาพปลอดสาร และยังมีนวัตกรรมที่อยู่ในไลน์การผลิต ซึ่งเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟาร์ม ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ต่าง ๆ เข้ามาใช้ตามเทรนด์ด้านเทคโนโลยี IT 8 ด้าน (กราฟิก)

ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกรรมขั้นพื้นฐานระบบการมอนิเตอร์วัตถุดิบในไซโล หากนึกภาพไซโล คือ คลังสินค้ารูปกรวยเก็บวัตถุดิบ ซึ่งเดิมใช้วิธีคำนวณแบบกว้างคูณยาวคูณสูง จะมีใครสนใจว่าการคำนวณนี้มีความสำคัญต่อการวางแผนการผลิตและสั่งซื้อสินค้าเกษตรเพียงใด แต่บอกได้เลยว่าสำคัญ เพราะหากเจ้าใหญ่ในตลาดเกษตรคำนวณผิด วางแผนสั่งซื้อวัตถุดิบพลาด ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรแน่นอน

ดังนั้น ระบบนี้ไม่เพียงสำคัญต่อซีพีเอฟในแง่การวางแผนการประมาณการผลิตต้นทุน แต่ยังสำคัญต่อการวางแผนบริหารจัดการราคาสินค้าเกษตร หากทุกบริษัทเกษตรมีระบบมอนิเตอร์ที่แม่นยำ เชื่อมโยงไปถึงภาครัฐสามารถวางแผนการปลูกได้ ย่อมช่วยลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาด และลดการใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาได้


ที่กล่าวมานี้ไม่ใช่ซีพีเอฟเพียงรายเดียวที่กล้าก้าว โดยนำระบบเกษตร 4.0 มาใช้ในการผลิต แต่อาจกล่าวได้ว่าทุกบริษัทด้านสินค้าเกษตรต่างเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ไม่ต่างกัน เพียงแต่จะมากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังและสายป่านของแต่ละราย หากมองบวก ๆ ว่า การลงทุนนี้ไม่ใช่เพียงแค่เพื่อกำไรของบริษัทที่กล้าลงทุนเท่านั้น แต่อีกด้านหากรู้จักใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้ก็อาจต่อยอดเชิงนโยบาย และช่วยเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้