มุ่งสู่เทคโนโลยี 5G เตรียมพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทย

An SK telecom exhibitor directs the robot's movements using 5G on the last day at the Mobile World Congress in Barcelona March 5, 2015. Ninety thousand executives, marketers and reporters gather in Barcelona this week for the telecom operators Mobile World Congress, the largest annual trade show for the global wireless industry. REUTERS/Gustau Nacarino (SPAIN - Tags: BUSINESS SCIENCE TECHNOLOGY TELECOMS)

คอลัมน์ มองข้ามชอต
โดย ดร.กมลมาลย์ แจ้งล้อม Economic Intelligence Center ธ.ไทยพาณิชย์

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี 5G เป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (digital transformation) จากคุณสมบัติที่สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยความเร็ว ความแรง และความเสถียรเทียบเท่ากับการใช้งานผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (fiber optic) ทำให้เทคโนโลยี 5G ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น

แต่สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยประเทศยักษ์ใหญ่ เช่น จีน สหรัฐ และเกาหลีใต้ ได้นำร่องเปิดให้บริการในบางพื้นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ ขณะที่ไทยกำหนดโรดแมป (roadmap) ที่จะเปิดใช้ 5G เชิงพาณิชย์ในปี 2020 ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายประเทศทั่วโลก

สำหรับไทยเทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ทุกวันนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย เทคโนโลยี 5G ถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล

ซึ่งภาครัฐมีความตั้งใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เชื่อมโยงทุกอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในอนาคต โดยภาครัฐคาดว่าเทคโนโลยี 5G จะใช้งานในไทยอย่างแพร่หลายในปี 2035 และจะสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมกว่า 2.3-5 ล้านล้านบาท

ดังนั้น การเตรียมความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการถึงแม้ว่าไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมแบบไร้สายมาอย่างต่อเนื่อง แต่การก้าวสู่ 5G ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) ต้องมีคลื่นความถี่ตามที่กำหนด และมีความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคม

พื้นฐาน ซึ่งประเมินว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานด้านการสื่อสารและบริการทั่วโลก ได้กำหนดมาตรฐานคลื่นความถี่ที่ operator ต้องครอบครองสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ไว้ 3 ช่วง

ประกอบด้วยช่วงคลื่นความถี่ต่ำกว่า 1 GHz, 1-6 GHz และสูงกว่า 6 GHz ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก operator ไทยส่วนใหญ่ยังได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ไม่ครอบคลุมตามช่วงคลื่นที่กำหนด นอกจากต้นทุนในส่วนของคลื่นความถี่แล้ว operator แต่ละรายยังต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงข่าย การเพิ่มสถานีฐาน และการอัพเกรดอุปกรณ์รับสัญญาณ โดย ITU ประเมินว่าการให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเพิ่มสถานีฐานมากถึง 40-50 เท่าจากสถานีฐาน 4G เดิม นั่นหมายถึงเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล

ในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีการกำหนดย่านความถี่ที่ใช้และเงื่อนไขใบอนุญาตให้ชัดเจน รวมถึงการใช้โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (infrastructure sharing) ที่ควรมีการพิจารณาเพื่อลดต้นทุนการติดตั้งโครงข่ายซ้ำซ้อน และย่นระยะเวลาในการติดตั้ง เช่นเดียวกับในอังกฤษที่มีการใช้เสาสัญญาณโทรคมนาคมทั้งหมดร่วมกันระหว่าง operator ขณะที่ไทยมีการใช้เสาสัญญาณโทรคมนาคมร่วมกันเพียง 30% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญ อีไอซีประเมินว่า อุตสาหกรรมในกลุ่มสื่อและบันเทิง สาธารณสุข และขนส่ง จะเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในระยะแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยตื่นตัวและมองเห็นโอกาสในการพลิกโฉมธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับบริบทของโลก

เมื่อพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ เงินลงทุนเริ่มต้นและระยะเวลาคืนทุนแล้ว อีไอซีประเมินว่า ในระยะแรกเทคโนโลยี 5G จะถูกใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มสื่อและบันเทิง สาธารณสุข และขนส่งจะเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มใช้เทคโนโลยี 5G และถูกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชั่นรวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับการใช้งานใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น สำหรับกลุ่มสื่อและบันเทิง เทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ ๆ ในการนำเสนอเนื้อหา

เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการดาวน์โหลดเนื้อหาดิจิทัลลดลง ในด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี 5G สามารถช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ของไทยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยการเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ wearables และการรักษาพยาบาลทางไกล (telehealth) ขณะที่ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เทคโนโลยี 5G จะทำให้สามารถติดตามสถานะการขนส่งสินค้าแบบ real time

ในระยะต่อมา เทคโนโลยี 5G จะส่งผลให้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาททดแทนแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคสาธารณูปโภค และภาคการเกษตรของไทยในอนาคต โดยเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานเป็นหลักจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะควบคุมการผลิตผ่านหุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ในโรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโรงงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโรงงานที่อยู่ในระดับอุตสาหกรรม 3.0 ขึ้นไปอยู่ราว 2 หมื่นโรงงาน หรือคิดเป็นประมาณ 15% ของโรงงานทั้งหมด

ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ยานยนต์ และปิโตรเคมี ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค เทคโนโลยี 5G จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบจ่ายไฟอัตโนมัติ (smart grid) ทำให้ประเทศประหยัดพลังงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G สามารถเข้ามาช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ดิน น้ำของภาคเกษตรไทย ส่งผลให้มูลค่าการผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นเกิดเป็น smart farming ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและกฎระเบียบที่เข้มงวด ในอนาคตเทคโนโลยี 5G จะทำให้โลกมีการเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ให้เอื้อต่อการใช้บริการเทคโนโลยี 5G และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คาดหวังความสะดวกสบายและการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น


ขณะที่แรงกดดันจากคู่แข่งทางธุรกิจรวมถึง supplier ใน value chain จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด นอกจากนี้ กฎระเบียบและข้อบังคับด้าน data security และ data privacy จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อกีดกันการค้ากับประเทศคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว