อย่ารังเกียจองค์กร บริหารธุรกิจแบบเผด็จการ

pixabay

คอลัมน์ นอกรอบ
โดย ศาสตราจารย์พิเศษ อธึก อัศวานันท์

ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่มีผู้จบการศึกษาจำนวนมากและอาจจะอยู่ในระยะเวลาที่กำลังหางานกันอย่างขะมักเขม้น ผู้ที่หางานมักจะเกิดความสงสัยว่าจะไปร่วมงานกับองค์กรแบบไหนดี วันนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะองค์กรธุรกิจภาคเอกชน

ไม่กี่วันมานี้ ผู้เขียนได้ยินสุนทรพจน์ของผู้บริหารที่เป็น chief executive cfficer (“CEO”) จากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศประชาธิปไตยท่านหนึ่ง ซึ่งตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ของท่าน ท่านยืนยันว่าท่านชอบองค์กรธุรกิจที่บริหารงานแบบเผด็จการ (dictatorship) มากกว่าองค์กรธุรกิจที่บริหารแบบประชาธิปไตย (democratic)

ผู้เขียนเข้าใจว่าที่เขาพูดถึงการบริหารงานแบบเผด็จการนั้นคือ การบริหารแบบ top down โดยผู้มีอำนาจสั่งการกำหนดนโยบายทิศทางธุรกิจโดยใช้วิสัยทัศน์ และ เหตุผล ของตนเองเป็นหลัก โดยมั่นใจว่าเนื่องจากตนเองมีข้อมูลมากกว่าคนอื่น ๆ ในองค์กรและมากกว่าคู่แข่งทางธุรกิจ จึงให้น้ำหนักกับความคิดและสัญชาตญาณของตนเองมากกว่าคำแนะนำของเพื่อนร่วมงาน ตัวอย่างเช่น การที่กรรมการท่านเดียวจะมีเสียงชี้ขาดในคณะกรรมการ โดยสามารถครอบงำความเห็นของกรรมการท่านอื่น ๆ ได้

ส่วนการบริหารแบบ bottom up ที่เขาเรียกว่าประชาธิปไตย คือ การตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลและให้น้ำหนักกับความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่อื่นมาร่วมกันวิเคราะห์กำหนดนโยบาย ตัวอย่างเช่น การใช้เสียงข้างมากในคณะกรรมการเพื่อการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบาย ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการย่อย หรืออนุกรรมการ เพื่อวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ก่อนส่งให้คณะกรรมการพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง คือเป็นการตัดสินใจโดยใช้ความคิดเห็นของคนหมู่มาก

ผู้บริหารท่านนี้ให้เหตุผลว่า เมื่อดูจากสถิติแล้ว องค์กรธุรกิจที่ได้รับความสำเร็จอย่างโดดเด่นเกือบทั้งหมด เกิดขึ้นในยุคที่องค์กรนั้นมีการบริหารแบบเผด็จการ คือจะมีผู้บริหารสูงสุดอยู่ผู้เดียว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเป็นยุคที่มีผู้บริหารที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งจะมีความเชื่อมั่นในตนเองเป็นอย่างสูง และมีบุคลิกภาพที่โดดเด่น สามารถครอบงำผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ได้ และสามารถดึงผู้มีความสามารถมาทำงานให้ โดยที่ผู้บริหารหรือกรรมการท่านอื่น ๆ จะสวมบทบาทเป็นผู้สนับสนุนให้กิจกรรมของท่านผู้นำลุล่วงตามแผนงาน

ฟังแล้วผมก็คล้อยตาม เห็นว่าความสำเร็จของธุรกิจยิ่งใหญ่ที่พลิกโฉมหน้าความก้าวหน้าของมนุษย์ เช่น การวิวัฒนาการของมนุษย์หันมาใช้รถยนต์ก็เป็นเพราะความสำเร็จของโรงงาน Ford จากการผลักดันของ Henry Ford และการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของโลกของธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลของ Apple ก็เป็นเพราะความอุตสาหะและมันสมองของ Steve Jobs ความสำเร็จของธุรกิจ software ของ Microsoft ก็เป็นหนี้บุญคุณ Bill Gate ความสำเร็จของธุรกิจลงทุน Berkshire Hathaway ก็มี Warren Buffet เป็นพระเอก ฯลฯ


ส่วนในประเทศไทย ธุรกิจใหญ่แต่ละเครือก็สามารถสืบสายกลับไปถึงตัวพระเอกผู้ทำให้กิจการเหล่านั้นผงาดโดดเด่นขึ้นมาในแต่ละธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเบียร์ ธุรกิจขายสินค้าปลอดภาษี ธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ 

ถ้าเรามีไฟแรง และกำลังหางานอยู่ โดยมุ่งหวังหางานในองค์กรธุรกิจที่จะมีโอกาสได้รับความสำเร็จโดดเด่นในวงการธุรกิจ ก็ควรมองหาองค์กรธุรกิจที่มีผู้นำที่นิยมใช้วิธีการบริหารเผด็จการ อย่าเพิ่งรังเกียจการบริหารธุรกิจแบบเผด็จการองค์กรธุรกิจแบบนั้นมีโอกาสได้รับความสำเร็จมากกว่าครับ แต่ต้องเป็นองค์กรที่มีช่องทางให้เราแสดงฝีมือด้วย

องค์กรธุรกิจที่มีผู้นำนิยมการบริหารแบบเผด็จการนี้ไม่มีหลักประกันว่าจะได้รับความสำเร็จทุกราย หรือจะอยู่ยงคงกระพันทุกราย ในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจที่มีผู้นำที่นิยมการบริหารแบบเผด็จการก็มีบาดเจ็บเสียหายไปเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนมากมาย เหมือน ๆ กับองค์กรธุรกิจที่ผู้นำนิยมการบริหารแบบประชาธิปไตย

แต่ที่น่าสังเกตคือ ในจำนวนธุรกิจที่มีผู้นำประเภทนิยมการบริหารแบบเผด็จการที่ต้องล้มลุกคลุกคลานไปเพราะพายุร้ายทางเศรษฐกิจนั้น เมื่อพายุร้ายพัดผ่านไป องค์กรธุรกิจประเภทนี้หลายกิจการจะกลับลุกขึ้นมาเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอัตราที่เร็วกว่าธุรกิจที่มีผู้นำที่นิยมการบริหารแบบประชาธิปไตยใช้เสียงข้างมาก


ซึ่งคงจะเป็นเพราะผู้นำที่นิยมการบริหารแบบเผด็จการมีความรู้สึกว่าตนมีความเป็นเจ้าของในกิจการที่ตนบริหารอยู่มากกว่าผู้บริหารแบบอื่น ๆ ก็ได้นะครับ