ไทยแลนด์ 4.0 “ทรัพย์สินทางปัญญา” ต้องมี

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

หลายวันก่อนผู้เขียนไปดูหนังเรื่อง The Current War เป็นเรื่องสงครามกระแสไฟ ระหว่างโทมัส อัลวา เอดิสัน นักประดิษฐ์คิดค้นหลอดไฟคนแรกของโลก ที่ถูกขโมย “ทรัพย์สินทางปัญญา” เรียกกันว่า “สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์” ไปโดยคู่แข่งยี่ห้อหนึ่ง การช่วงชิงตลาดเป็นไปอย่างดุเดือดระหว่างผู้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ และเจ้าของสิทธิบัตร ทำให้เราทึ่งว่าฝรั่งจริงจังกับเรื่องนี้มานานกว่า 140-150 ปีทีเดียว

ในส่วนของไทยหลังจากรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” หวังใช้นวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งการจดคุ้มครองสิทธิในผลงานนวัตกรรมนับว่ามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ยอดการจดคุ้มครองก็ยังคงแผ่ว ๆ และต้องยอมรับว่าจนถึงตอนนี้หลายคนก็ยังแยกประเภททรัพย์สินทางปัญญาไม่ออกว่าอะไรคือสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร, สิทธิบัตรการออกแบบ, เครื่องหมายการค้า, ลิขสิทธิ์ อย่าว่าแต่จดคุ้มครองเลย เรียกพันกันไปมา อย่าว่าแต่จะให้คุ้มครองสิทธิเลย

ไม่ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะให้ความรู้มากี่ปี แต่คนไทยมักมองว่าเรื่องนี้ไกลตัว ที่ผ่านมาผู้เขียนเองก็เคยเข้าใจผิดและเรียกพันกันไปหมดเช่นกัน หลักการจำง่าย ๆ คือ ลิขสิทธิ์ จะเป็นพวกงานเขียน เรื่องแต่ง งานพิมพ์ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพส่งไลน์ว่าสวัสดีวันจันทร์ อังคาร ที่ประดิษฐ์ แต่งขึ้น ยกเว้น “ข่าว” เพราะนักข่าวไม่ได้แต่งข่าวขึ้นมา แต่เป็นการรายงานข้อเท็จจริง ดังนั้น ข่าวจึงไม่ถือเป็นงานลิขสิทธิ์ ที่พิเศษคือการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกิดขึ้น “อัตโนมัติ” ไม่ต้องจดแจ้ง และ “คุ้มครองตลอดชีวิตเจ้าของผลงานบวกอีก 50 ปีหลังเสียชีวิต” ใครจะละเมิดก๊อบปี้ไม่ได้ ยกเว้นก๊อบปี้เพื่อการศึกษาไม่แสวงหากำไร

ส่วน สิทธิบัตร จะแบ่งเป็น 3 แบบ คือ อนุสิทธิบัตร สิทธิบัตรการประดิษฐ์ และสิทธิบัตรการออกแบบ พวกนี้เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าใหม่ หรือสินค้าที่มีการต่อยอดมากขึ้นไปกว่าเดิม อาจจะไม่ใช่สินค้า เป็น “ขั้นตอน/กระบวนการ” ดำเนินงานหรืออะไรที่ทำให้สินค้าของเราแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งผู้เป็นเจ้าของต้องยื่นขอจดคุ้มครอง สิทธิบัตรการประดิษฐ์ มีอายุ 20 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ส่วนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มีอายุ 10 ปี นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ต่ออายุได้ครั้งละ 2 ปี อีก 2 ครั้ง และ “จดที่ประเทศไหนคุ้มครองที่ประเทศนั้น” ใครจะมาก๊อบปี้ไม่ได้ ยกเว้นก๊อบปี้โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นจากเงื่อนไขการขอใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (compulsory licensing : CL) เพื่อผลิตยาต้านไวรัสเอสไอวี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาที่มีราคาสูง เพื่อมนุษยธรรม เป็นต้น

ส่วนเครื่องหมายการค้า จำง่ายที่สุด คือ ตราสัญลักษณ์โลโก้ ภาพ เสียง กลิ่นที่ใช้แทนเพื่อบ่งบอกถึงสินค้าของเรา มีอายุคุ้มครอง 10 ปี อาจต่อได้ 10 ปี และจดที่ไหนคุ้มครองที่นั่น ถ้าจะส่งออกต้องไปจดคุ้มครองที่ประเทศปลายทาง

เร็ว ๆ นี้ เห็นปัญหาดราม่าการจดเครื่องหมายการค้า “ซอสพริกศรีราชา” ว่าเหตุใดกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่รับจดทั้งที่เจ้าของสินค้ายื่นจดคุ้มครองมานานถึง 7 ปี ทำให้ต่างชาติฉวยนำเอาชื่อนั้นไปจดในต่างประเทศ ประเด็นนี้กรมออกมาชี้แจงถึงเหตุผลซึ่งเข้าใจง่าย ๆ เลยว่า “ชื่อภูมิประเทศ-คำสามัญ” ไม่สามารถจะใช้จดเครื่องหมายการค้าได้

เดิมมีเคสคล้ายกันนี้เคยเกิดเมื่อปี 2549 มีชาวญี่ปุ่นยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ฤๅษีดัดตน” เพื่อประกอบกิจการการนวดแผนโบราณแบบไทย โดยใช้คำว่า “ฤๅษีดัดตน” เป็นอักษรญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษที่ญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยต่อสู้ โดยอ้างหลักฐาน “ฤๅษีดัดตน” เป็น “ภูมิปัญญาชาวบ้านของไทย” มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม หรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เมื่อปี 2331 จึงชนะและสามารถรักษาสิทธิได้ในปี 2560

ปล.กรณีซอสศรีราชานั้น มีผู้รู้บอกมาว่าจริง ๆ สามารถยื่นจดคุ้มครองเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ “GI” แทนเครื่องหมายการค้าได้ แต่เมื่อ 7 ปีก่อนยังไม่ฮิตในไทย ซึ่งหากยื่นคุ้มครองเป็น GI หมายถึง ผู้ผลิตอื่นที่ทำสินค้าแบบเดียวกันในแหล่งภูมิศาสตร์เดียวกันก็สามารถใช้ร่วมกันได้ เป็นการคุ้มครองของดีที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

หากเจ้าของซอสจะส่งออกต้องไปจด GI ในประเทศปลายทางด้วย เท่าที่ทราบในหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ไม่มีกฎหมายให้ความคุ้มครอง GI เหมือนในยุโรป ดังนั้น หากจะขายในสหรัฐอาจต้องเปลี่ยนไปจดเครื่องหมายการค้ากับสหรัฐแทน ซึ่งกรณีนี้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการอำนวยความสะดวกให้คำปรึกษาผ่านสายด่วน 1368 หรือทางออนไลน์หรือเข้าไปกรมได้ เพราะปัจจุบันมีบริการให้ยื่นจดคุ้มครองแบบข้ามประเทศได้ เช่น การจดสิทธิบัตรผ่านความร่วมมือ PCT การจดเครื่องหมายการค้าข้ามประเทศผ่าน Madrid เป็นต้น เน้นย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะหลายคนนำสินค้าไปออกงานแฟร์ต่างประเทศยังไม่ทันจะได้ขายก็ถูกก๊อบปี้ไปก่อนแล้ว

ดังนั้น ผู้ประกอบการยุคใหม่ไม่เพียงต้องสร้างนวัตกรรมแต่ต้องวางแนวทางการทำการตลาดควบคู่กับการดูแลทรัพย์สินทางปัญญาด้วย