สมาร์ทซิตี้-เมืองอัจฉริยะ หรือเมืองคุณภาพและน่าอยู่

จัตุรัสสเตฟาน (Stephansplatz) ในเวียนนา

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ทรงศักดิ์ สายเชื้อ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา

สมาร์ทซิตี้ (smart city) คืออะไร

ในขณะนี้เรื่องสมาร์ทซิตี้ เป็นเรื่องที่เกือบทุกประเทศพูดถึงและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเป็นกระแสโลกที่สำคัญเรื่องหนึ่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ในบ้านเราและในภูมิภาคอาเซียนก็กำลังให้ความสนใจในเรื่องนี้เป็นอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ ความเข้าใจแนวคิดเรื่องสมาร์ทซิตี้นั้นมีทั้งประเด็นที่เหมือนกันและแตกต่างกัน โดยมีการให้คำนิยามและอธิบายความหมายของสมาร์ทซิตี้เอาไว้หลากหลายแนวทาง

ในยุทธศาสตร์สมาร์ทซิตี้ของกรุงเวียนนา (Smart City Wienna) ได้ให้คำนิยามไว้ว่า สมาร์ทซิตี้หมายถึงการพัฒนาเมือง ซึ่งให้ลำดับความสำคัญ 3 ประการ คือ

1.ประชาชนมีคุณภาพชีวิตสูงและมีความสมดุลทางสังคม

2.การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดประสิทธิผล รวมทั้งการสร้างเทคโนโลยีใหม่

3.การอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ แนวทางสมาร์ทซิตี้ต้องทำให้เมืองสามารถพัฒนารับและปรับตัวกับความท้าทายในอนาคตได้ โดยครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนาเมือง (comprehensive fashion) และการดำเนินการ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ต้องครอบคลุมทุกภาคส่วนและทุกมิติ (holistic approach)

ผู้บริหารกรุงเวียนนาและ CEO ของ Urban Innovation Agency (ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานและจัดทำยุทธศาสตร์ ให้คำแนะนำ ติดตามการดำเนินงานและทำการศึกษาวิจัยในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้) ได้กล่าวกับผู้เขียนว่า วัตถุประสงค์และหัวใจสำคัญของแนวทางสมาร์ทซิตี้ของกรุงเวียนนาคือคุณภาพชีวิตของประชาชน การดูแลสังคมครอบคลุมทุกภาคส่วน (social inclusion) โดยเทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มทรัพยากรต่าง ๆ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย การมีคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงของประชาชน

นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ได้ให้คำนิยามของ Barcelona Smart City ว่า ให้นครบาร์เซโลนาเป็นเมืองที่พึ่งตนเองได้และเป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่คนมีขีดความสามารถในการพัฒนาในเขตมหานครที่มีเครือข่ายคมนาคมที่มีความเชื่อมโยงอย่างสูงและต้องไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ (hyperconnected zero emissions)

บริษัท Mckinsy and Company ซึ่งศึกษาแนวทางสมาร์ทซิตี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ให้คำนิยามว่า สมาร์ทซิตี้คือเมืองที่บูรณาการข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของส่วนรวมและทำให้สภาพแวดล้อมของเมืองน่าอยู่ ยั่งยืน และก่อให้เกิดผลผลิตมากขึ้น

จะเห็นว่า คำนิยามของเมืองในยุโรปจะเน้นคุณภาพชีวิต การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและครอบคลุมทุกมิติ ทุกภาคส่วนของสังคม (social inclusion) ในขณะที่นิยามของบริษัท Mckinsey and Company ซึ่งอ้างอิงถึงสมาร์ทซิตี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองหลายแนวทางในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้

การขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ อาจกล่าวได้อย่างกว้าง ๆ เป็น 3 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้

แนวทางแรก เป็นแนวทางที่ครอบคลุมทุกมิติ (comprehensive smart city approach) และเน้นคุณภาพชีวิตและครอบคลุมทุกมิติและทุกภาคส่วน รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายต่าง ๆดังกล่าวข้างต้น เมืองส่วนใหญ่ในยุโรปและแคนาดาจะใช้แนวทางสมาร์ทซิตี้แนวทางนี้ สมาร์ทซิตี้แนวทางแรกนี้จะเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความเป็นเมืองน่าอยู่ (livable city) หรืออาจกล่าวได้ว่าสมาร์ทซิตี้ตามแนวทางนี้ต้องเป็นเมืองน่าอยู่ด้วย

ตัวอย่างของเมืองที่ใช้แนวทางนี้ที่จะกล่าวถึงต่อไป ได้แก่ การขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ของกรุงเวียนนา

แนวทางที่สอง เป็นการพัฒนาสมาร์ทซิตี้โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีรวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวนำในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ซึ่งเป็นแนวทางของเมืองส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แนวทางที่สาม เป็นการพัฒนาความเป็นสมาร์ทซิตี้เฉพาะในมิติเพียง 1-2 ด้าน เช่น สมาร์ทซิตี้ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (smart infrastructure) สมาร์ทซิตี้ด้านพลังงาน (smart energy) สมาร์ทซิตี้เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แนวทางนี้น่าจะเป็นความเข้าใจที่เกิดขึ้นในบ้านเรา โดยเมืองส่วนใหญ่จะพัฒนาสมาร์ทซิตี้ตามแนวทางแรกและแนวทางที่สอง

กรุงเวียนนา : เมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลก แนวทางสมาร์ทซิตี้ของกรุงเวียนนา เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ตามแนวทางแรกที่มีการพัฒนาแบบครอบคลุมทุกมิติ (comprehensive smart city) และดัชนีที่เป็นภาพสะท้อนของความสำเร็จและความก้าวหน้าของความเป็นสมาร์ทซิตี้มีหลายประการ เช่น Mercer Quality of Living Survey ได้จัดให้เวียนนาเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลกติดต่อกันถึง 10 ปี จนถึงปี 2562 นอกจากนี้ Economic Intel-ligence Unit ก็ได้จัดให้เวียนนาเป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 1 ของโลกใน Global Livability Index 2018 ส่วนบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการชื่อ Roland Berger ซึ่งจัดทำดัชนียุทธศาสตร์สมาร์ทซิตี้ (Smart City Strate-gy Index) ก็จัดให้เวียนนาอยู่ในอันดับ 1 ในปี 2562

เวียนนาได้ขับเคลื่อนและพัฒนาสมาร์ทซิตี้ใน 3 มิติ และ 10 ด้านหลัก

มิติแรก คือคุณภาพชีวิต (quality of life) ซึ่งกรุงเวียนนาถือว่าเป็นทั้งมิติหลักในการขับเคลื่อนและเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ โดยมิติด้านคุณภาพชีวิตนี้ ประกอบด้วยการดำเนินการใน 3 ด้าน อันได้แก่ 1.การครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม (social inclusion) 2.ด้านสาธารณสุขและสุขภาพ และ 3.ด้านสิ่งแวดล้อม

กรุงเวียนนาได้กำหนดความหมายและขอบเขตของ social inclusion ว่า หมายถึงการที่สังคมเป็นสังคมเปิดและมีความเป็นปึกแผ่น (open society and solidarity) การมีความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชนแวดล้อม การเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน และการสร้างทัศนคติและมุมมองที่ว่าพหุสังคมและความหลากหลายในสังคมนั้นเป็นโอกาส การมีความปลอดภัยในชีวิต การมีหลักประกันขั้นพื้นฐานทางสังคม (social safety net) การมีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพสูงและประชาชนสามารถเป็นเจ้าของได้ รวมทั้งการมีบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมที่ดี ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการทำงานและการสร้างผลงาน

ในขณะเดียวกันต้องมีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเพียงพอ รวมทั้งประชาชนต้องได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการมีชีวิตทางสังคมและมีทักษะทางสังคมที่เพียงพอ การสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการวางแผนกระบวนการตัดสินใจและการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ เรื่อง social inclusion นี้ ได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้ด้วย

ส่วนในด้านสาธารณสุขและสุขภาพนั้น มุ่งให้โรงพยาบาลและหน่วยงานในสังกัดกรุงเวียนนาให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการและมีคุณภาพสูง รวมทั้งการมีบริการที่สนับสนุนด้านสุขภาพและการใช้เวลาในการพักผ่อนและนันทนาการของประชาชน

ในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น มีประเด็นสำคัญ เช่น การผลักดันให้กรุงเวียนนาเป็นเมืองต้นแบบของสิ่งแวดล้อม (An Environmental Model City)

มิติที่สอง ของสมาร์ทซิตี้ของเวียนนาคือ ด้านนวัตกรรม (innovation)ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันให้กรุงเวียนนา เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม (innovation leader) โดยมีการดำเนินการ 3 ด้าน อันได้แก่

1.การวิจัยที่ทันสมัย (cutting-edge research) 2.การสร้างเทคโนโลยีใหม่ และ 3.ระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูง

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้หลายประการ เช่น มุ่งผลักดันให้เวียนนาเป็น 1 ใน 5 ศูนย์กลางการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป การส่งเสริมให้เวียนนาเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักวิจัยและนักศึกษา

ชั้นนำจากทั่วโลก การเพิ่มสัดส่วนของการส่งออกสินค้าที่ผลิตได้โดยใช้เทคโนโลยีต่อการส่งออกสินค้าทั้งหมดจากร้อยละ 60 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 80 ในปี 2573 เป็นต้น

มิติที่สาม ได้แก่ ทรัพยากร (resources) ประกอบด้วยการดำเนินการ 4 ด้าน คือ

1.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานหมุนเวียน

2.การขนส่งมวลชนที่อนุรักษ์ทรัพยากร (resource conserving mobility)

3.อาคารที่มีโครงสร้างใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีการใช้พลังงานน้อยที่สุด

และ 4.โครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานสูง รวมทั้งมีเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นระบบประสาท (nervous system) ของกรุงเวียนนา

ตัวอย่างของเป้าหมายในมิติด้านทรัพยากรที่น่าสนใจ เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากร 1 คนลงร้อยละ 80 ภายใน ค.ศ. 2050 โดยใช้ปี ค.ศ. 2030 เป็นฐานการลดการใช้รถยนต์หรือพาหนะส่วนบุคคลลงให้เหลือร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2025 และการกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มแอปพลิเคชั่น (applications/apps) ใหม่อีก 100 apps ใน 3 ปีข้างหน้า

รวมทั้งมุ่งให้กรุงเวียนนาเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าที่สุดในยุโรปในเรื่องรัฐบาลเปิด (open government)