เครื่องมือแพทย์และสุขภาพ อุตสาหกรรมสำคัญในช่วงโควิด-19

คอลัมน์ แตกประเด็น
เภสัชกร อดิศร อาภาสุทธิรัตน์
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ

การระบาดของโควิด-19 ทั้งในระลอกแรกและระลอกใหม่ใประเทศไทย ในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้ส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจ ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ แต่มีอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 คือ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ ที่ผลิตตั้งแต่ถุงมือยาง หน้ากากอนามัย ชุด PPE แอลกอฮอล์เจล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอย่างมากในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

จะสังเกตเห็นได้ว่าทุกคนมีการป้องกันตนเองมากขึ้น การใส่หน้ากากอนามัยออกจากบ้านทุกวัน การใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือบ่อย ๆ ช่วยลดการติดเชื้อโรค เช่น เชื้อไข้หวัดได้เป็นอย่างดี สิ่งจำเป็นเหล่านี้จึงมีความต้องการในท้องตลาดสูง

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในทางลบ อาทิ การหายไปของคนไข้ต่างชาติ การลดลงของการผ่าตัดและศัลยกรรมเสริมความงามต่าง ๆ เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการการรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) รวมไปถึงการให้บริการของศูนย์ผู้มีบุตรยาก ซึ่งต้องใช้เครื่องมือสำหรับการทำกิฟต์และเด็กหลอดแก้ว ที่มีจำนวนผู้เข้ารับบริการลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะยังกังวลกับการระบาดของโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ทำให้หลายคนตัดสินใจชะลอการมีบุตรออกไปก่อน

ทั้งนี้ หากมองถึงเรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทยในธุรกิจเครื่องมือแพทย์และสุขภาพกลุ่ม ไทยเราสามารถเป็น medical hub ในภูมิภาคนี้ได้ เนื่องจากบุคลากรแพทย์ไทยมีความสามารถสูงและมีระบบสาธารณสุขที่ดี เป็นที่ยอมรับในระดับโลก

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาหรือรับบริการในโรงพยาบาลในบ้านเรามากขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว ดังนั้น จึงควรดึงความแข็งแกร่งที่เรามีในด้านคุณภาพ และบริการมาสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับประเทศไทย

โดยเฉพาะในด้านบริการที่ประเทศอื่นเลียนแบบได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาด คือ ผลิตภัณฑ์ ที่จะมาเติมเต็มให้ไทยเป็น medical hub ในภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ ทำอย่างไรให้ชาวต่างชาติเข้ามาซื้อมาใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เราสามารถผลิตเองได้

เมื่อมีผลิตภัณฑ์แล้วเรื่องสำคัญที่จะตามมา คือ สร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ จึงอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการส่งเสริมผู้ผลิต มาตรฐาน และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจ healthcare นี้ เป็นอีกหนึ่ง flagship ที่สำคัญของไทยได้แน่นอน

ขณะที่ไทยเรากำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับระบบสาธารณสุขในบ้านเราค่อนข้างดี จะเห็นได้ว่าคนไทยอายุยืนขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ผมเคยคุยกับแพทย์ที่ญี่ปุ่น เขาบอกว่าประเทศเขาแบ่งผู้สูงอายุเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่อายุเกิน 60 ปี แต่ยังแข็งแรงสุขภาพดี แอ็กทีฟ ยังทำงานได้ และอีกประเภทหนึ่งคือไม่ได้ทำงานแล้ว

เป้าหมายของเขาคือต้องอายุยืนยาวขึ้นด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและน่านำมาใช้ในบ้านเรา บางประเทศอาจมองว่าการมีผู้สูงวัยมากขึ้นจะกลายเป็นปัญหาของสังคม แต่ผมมองว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ริเริ่มสร้างสิ่งต่าง ๆ ก่อน

อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบอำนวยความสะดวก รวมไปถึงเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์รองรับไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุ เป็นต้น ถ้าเรามีความพร้อมก่อนประเทศอื่น เราสามารถส่งออกเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน และภูมิภาคอื่นได้

เมื่อทุกภาคส่วนในประเทศมองเห็นทิศทางนี้ตรงกันแล้ว ต้องกลับมาวางแผนร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเป็นไทยแลนด์ทีม อาทิ ทีมวิจัย ทีมผลิต และทีมจำหน่าย ต้องเป็นหนึ่งเดียว เชื่อมโยงตลอดทั้ง value chain มาร่วมกันทำงานเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ให้ไทยกลายเป็น medical product hub ในภูมิภาคอาเซียนให้ได้

“ไทยควรสร้างคุณภาพและมาตรฐานในผลิตภัณฑ์กลุ่ม healthcare ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเตรียมส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศในอนาคต”