ภัยแล้งกระหน่ำ ทุบซ้ำเศรษฐกิจไทย สินค้าเกษตรเดี้ยง แพงสุดกู่

แล้ง
หมายเหตุ ภาพประกอบไม่ใช่สถานที่ที่ระบุในข่าว

ภัยแล้งลามหนักทั่วสารทิศ ทุบซ้ำเศรษฐกิจ ผลไม้-พืชสวน เสียหายหนักไม่ออกลูก โตช้า เกษตรกร-ชาวสวนกุมขมับ เหนือคาด “ลิ้นจี่-ลำไย” สูญพันล้าน พื้นที่นาปรังโคราชใกล้วิกฤตลุ้นรอฝนเดือน พ.ค. ส่วนนครสวรรค์-พิษณุโลก เกษตรกรต้องพึ่งบ่อบาดาลบรรเทาความเดือดร้อน

“ลิ้นจี่-ลำไย” สูญพันล้าน

นายเจริญ พิมพ์ขาล เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดและแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะลิ้นจี่และลำไย โดยลิ้นจี่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในไทย 35,000 ไร่ มีมูลค่าทางการตลาดปี 2566 กว่า 1,150 ล้านบาท จะออกผลผลิตเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งคาดการณ์ผลผลิตในปี 2567 อยู่ที่กว่า 19,000 ตัน

ล่าสุด จากการลงพื้นที่สำรวจปลูกลิ้นจี่ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าผลผลิตลูกเล็กและติดผลค่อนข้างน้อยมาก คาดว่าผลผลิตจะได้รับความเสียหายราว 10% หรือหายไปราว 2,000 ตัน มูลค่าทางการตลาดจะหายไป 10% หรือหายไปราว 120 ล้านบาท

ส่วนลำไยมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ราว 450,000 ไร่ แบ่งเป็นลำไยในฤดู 300,000 ไร่ และลำไยนอกฤดู 150,000 ไร่ มีมูลค่าทางการตลาดในปี 2566 กว่า 9,200 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตกว่า 458,000 ตัน โดยลำไยในฤดูจะออกเดือนกรกฎาคม-กันยายน

หากฝนยังไม่ตกลงมาภายใน 7 วันนับจากวันที่ 29 เมษายน 2567 คาดว่าผลผลิตลำไยในฤดูของปี 2567 จะได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศร้อนและแล้งราว 10% ผลผลิตจะหายไปราว 30,000 ตัน และมูลค่าทางการตลาดจะหายไป 10% หรือหายไปราว 920 ล้านบาท

Advertisment

“ผลกระทบจากสภาพอากาศที่เกิดขึ้น จะทำให้ลิ้นจี่ออกสู่ตลาดน้อย ราคาจะแพงขึ้นมาก อาทิ พันธุ์ฮงฮวยขายหน้าสวน 30 บาท/กก. ขณะที่ลิ้นจี่พันธุ์จักรพรรดิ คาดว่าราคาขายหน้าสวนจะอยู่ที่ 100 บาท/กก. ราคาขายปลีกจะพุ่งสูงถึง 150-200 บาท/กก. ซึ่งถือว่าแพงที่สุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ เมื่อรวมมูลค่าความเสียหายทางการตลาดของทั้งลิ้นจี่และลำไยในปีนี้ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะอากาศร้อนและแล้ง คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท”

“โคราช” พืชไร่พืชสวนเสียหาย

นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำน้อยเพราะสภาพอากาศที่ร้อนยังคงสูงต่อเนื่อง หากมีฝนตกในเดือน พ.ค.-ส.ค. 67 น้ำจะเพิ่มมากขึ้น แต่หากไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์อาจเกิดความเสี่ยง ทำให้เข้าสู่ภาวะวิกฤตได้ จึงอยากขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เนื่องจากสถานการณ์น้ำในเขื่อนเหลือ 35% ตอนนี้ต้องขอให้ภาคเกษตรไม่สูบน้ำในการปลูกข้าวนาปรัง เพราะจะมีความเสี่ยง ขอให้ทำนาปี

นางสมพิศ ทองดีนอก เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากอากาศที่ร้อน อุณหภูมิสูงกว่า 42 องศา ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ผลผลิตออกช้า ผลผลิตที่ออกมาไม่สมบูรณ์เต็มที่ ผลไม้สุกก่อนอายุ ฯลฯ ทำให้เกษตรกรวางแผนการตลาดได้ยาก

ตอนนี้แม้ยังไม่ถึงขึ้นต้องซื้อน้ำมาเพื่อทำการเกษตร แต่ก็มีรายงานว่า ผลผลิตลดลง 20% ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีกำไรเต็มที่ ส่วนพืชไร่การเติบโตก็ชะงัก ขณะนี้ได้แนะนำให้เกษตรกรสำรวจตรวจสอบพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือ
นครสวรรค์-พิษณุโลกอ่วม

Advertisment

นายทรงวุฒิ วาสุกรี หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า นครสวรรค์มีพื้นที่นาปรัง 537,800 ไร่ ถั่วเขียว 14,500 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 46,300 ไร่ ลดลงจากปีก่อนเหลือ 49,100 ไร่ มันสำปะหลัง 1,700 ไร่ พืชอื่น ๆ เช่น โหระพา คะน้า กวางตุ้ง ลงจากปีก่อนเหลือ 3,500 ไร่

ทั้งนี้ เกษตรกรบางส่วนรับมือกับภัยแล้งได้ ยังคงมีน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น บึงบอระเพ็ดมาช่วย ประกอบกับเกษตรแต่ละครัวเรือนมีบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้นไว้ใช้เอง อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว และพืชอื่น ๆ ได้ปรับลดพื้นที่การปลูกลง

นายมนัส เสียงก้อง เกษตรจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลกได้สำรวจพื้นที่การเกษตรในเดือนเมษายน 2567 พบว่าขณะนี้พื้นที่นาข้าวไม่พบความเสี่ยง เนื่องจากเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว พื้นที่พืชไร่-พืชผัก 39,030 ไร่ และไม้ผลไม้ยืนต้น 18,800 ไร่ จัดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้อย

อย่างสวนทุเรียน เกษตรกรมีระบบน้ำในพื้นที่ ตอนนี้ให้คำแนะนำเรื่องการคลุมโคนต้นไม้ผลเพื่อรักษาความชื้นของต้น และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในพื้นที่ 3 อำเภอ จำนวน 4,500 ไร่ ที่เกษตรกรปลูกทุเรียนได้มีการขึ้นทะเบียนไว้

นางสาวชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงบ้านวังน้ำบ่อ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ปีนี้ผลผลิตมะม่วงออกน้อย บางสวนไม่มีมะม่วงออกลูกเลย แต่ยังโชคดีช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนมีฝนตกลงมา เวลานี้หลายแปลงกำลังจัดเตรียมทำนอกฤดู แต่ถ้าเดือนพฤษภาคมไม่มีฝนตกลงมาก็จะลำบาก

ขณะที่นายศรณ์ กันตรัตนากุล เจ้าของสวนไฮ-ฮิลล์ ฟาร์ม บ้านรักไทย สวนทุเรียนไฮ-ฮิลล์ ฟาร์ม บ้านรักไทย ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ไฮ-ฮิลล์ ฟาร์มมีพื้นที่ปลูกผลไม้มากกว่า 200 ไร่ ทั้งทุเรียน มะยงชิด ลำไย มะเฟือง มะม่วง ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งบ้าง เนื่องจากมีระบบ Advance พ่นน้ำในแปลง ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นบาท/เดือน

ทุเรียนใต้เสียหายมาก

นายสมควร เจริญอารยะ ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ร้อนจัดแล้งยาว ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2567 มาจนถึงขณะนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อพืชผักผลไม้และบางพื้นที่ยืนต้นแห้งเหี่ยวตายจากการขาดแคลนน้ำ ส่วนในกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่เสียหายไปประมาณ 40-50% เฉลี่ยบางต้นที่เคยให้ผลผลิตประมาณ 80 ลูก ในปีนี้เหลือประมาณ 20-40 ลูก ซึ่งจะเก็บผลผลิตประมาณเดือนสิงหาคม กันยายน 2567

เจ้าของสวนทุเรียน อ.เบตง จ.ยะลา ให้ข้อมูลว่า ยะลาเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของภาคใต้ตอนล่าง ภาวะแล้งร้อนจัดลากยาว ได้ส่งผลกระทบมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตอนนี้ฝนตกมาต่อเนื่อง 10 วัน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ทำให้ทุเรียนที่กำลังออกดอกได้รับความเสียหาย และปีนี้คาดว่าผลผลิตทุเรียนหายไปเป็นจำนวนมาก

นายนัด ดวงใส ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แล้งร้อนที่ลากยาว แม้จะมีการทำฝนเทียม แต่ส่วนใหญ่จะไปตกนอกพื้นที่เป้าหมาย ขณะนี้ชาวสวนบางพื้นที่ต้องซื้อน้ำมารดสวน ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะหายไปประมาณ 40-50%