ศรีลังกา “ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย” โอกาสทางการค้า FTA ไทย-ศรีลังกา

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ศรีลังกา “ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย” ประเทศเกาะที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย มีประชากร 22 ล้านคน มีขนาดเล็กกว่าไทย 8 เท่า แต่มีความน่าสนใจ เนื่องจากสาเหตุหลายประการอาทิ (1) ทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินเรือหลักของโลก มีท่าเรือสำคัญ คือ ท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการขนส่งมากที่สุดเป็นอันดับ 24 ของโลก ในปี 2561 จากการจัดอันดับของสภาการขนส่งทางเรือโลก (World Shipping Council) และกำลังถูกยกระดับให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย รองรับการทำธุรกรรมและขนส่งจากทั่วโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ จากนโยบายสายแถบและเส้นทางของจีน (Belt and Road Initiative)

(2) ทรัพยากรทางธรรมชาติ เป็นแหล่งพลอยสีน้ำเงิน หรือ blue sapphire ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งยังมีวัตถุดิบการเกษตรที่สำคัญ อาทิ มะพร้าว ชา มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการประมงและการท่องเที่ยว โดยมีเมืองชายทะเลที่สำคัญ อาทิ กอลล์ ฮิกคาดูวา และบัตติคาโลอา

(3) มรดกทางวัฒนธรรม เป็นประเทศที่ร่ำรวยมรดกโลก อาทิ ราชธานีแห่งแรกและแห่งที่สองอย่าง อนุราธปุระ และโปโลนนารุวะ (ยุคทองแห่งศิลปะลังกา) รวมทั้งวัดถ้ำดัมบุลลา ซึ่งสะท้อนอารยรธรรมโบราณ ตั้งแต่ยุคพุทธศักราชที่ 1 มีมรดกล้ำค่าทางพุทธศาสนา คือ พระเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี้ และต้นศรีมหาโพธิ์ กรุงโคลัมโบ

(4) นโยบาย กฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ทางการค้าและการลงทุน ศรีลังกาได้ประกาศ “วิสัยทัศน์ 2568 (Vision 2025)” มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอก รวมถึงเพิ่มมูลค่าการส่งออกเป็น 2 เท่า หรือ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (จากเดิม 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560) เพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็น 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (จากเดิม 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2560) และให้สิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน อาทิ การยกเว้นภาษี 3-15 ปี การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และการจัดตั้ง single window สำหรับนักลงทุน

นอกจากนี้ ศรีลังกายังน่าสนใจเพราะได้รับสิทธิพิเศษด้านการนำเข้า-ส่งออก ประเภท GSP Plus จากสหภาพยุโรปด้วย จากศักยภาพของศรีลังกา ทำให้หลายประเทศสนใจจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับศรีลังกาแล้ว เช่น อินเดีย และสิงคโปร์ และบางประเทศอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับศรีลังกา เช่น จีน ไทย เป็นต้น

ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีไทยได้ร่วมกับประธานาธิบดีศรีลังกา ประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา (SLTFTA) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นการจัดทำ FTA ที่ครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมามีการประชุมเจรจา FTA ไปแล้ว 2 รอบ สองฝ่ายหารือในประเด็นที่สำคัญ อาทิ 1) ด้านการค้าสินค้า เน้นเจรจาเพื่อลด/ยกเลิกภาษีสินค้าส่วนใหญ่ระหว่างกัน 2) ด้านการค้าบริการ เจรจาเปิดตลาดการค้าบริการในสาขาต่าง ๆ ระหว่างกัน 3) ด้านการลงทุน เจรจาเรื่องการเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน

4) ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หารือความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร ประมง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม การเงิน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ ศรีลังกาจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจา FTA รอบที่ 3 โดยในเบื้องต้น 2 ฝ่ายตั้งเป้าจะหาข้อสรุปการเจรจาภายในปี 2563

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับศรีลังกาอยู่ที่ 244.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทยไปศรีลังกา 198.76 เหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น ผ้าผืน ปลาแห้ง น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางพารา เป็นต้น และเป็นการนำเข้าจากศรีลังกามาไทย 45.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ในสินค้า เช่น อัญมณี เสื้อผ้าสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องจักรไฟฟ้า และสัตว์น้ำแช่เย็นและแช่แข็ง เป็นต้น

คาดว่าการจัดทำ FTA ไทย-ศรีลังกา จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศขยายตัว โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปศรีลังกา เช่น ยานยนต์ เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก เป็นต้น


ขณะที่อุตสาหกรรมที่ไทยอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนในศรีลังกา เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและอาหาร สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ การก่อสร้าง การประมง และการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง (โรงแรม ร้านอาหาร สปา) เป็นต้น