คุมยา…อย่าให้ดาบขึ้นสนิม

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

สร้างความฮือฮาไม่น้อย หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เพิ่ม “ยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์” เป็นสินค้าและบริการควบคุมใหม่ ประจำปี 2562 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกของการใช้มาตรการทางกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่มอบดาบอาญาสิทธิ์ให้กรมการค้าภายใน ใช้กำกับดูแลการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ “แทรกแซงกลไกตลาด” แต่หลักใหญ่ใจความเพื่อให้การกำหนดราคาโปร่งใส-เป็นธรรม (fair price) ผู้บริโภคมีทางเลือก (consumers’ choices) และการรักษาที่สมเหตุสมผล (reasonable treatment)

เพราะที่ผ่านมามีการร้องเรียนปัญหาค่ายาแพงเว่อร์มานาน แต่ก็ไม่เคยมีใครใช้มาตรการทางกฎหมายอะไรเข้ามาดูแล นอกจากบังคับให้ติดป้ายแสดงราคา และเมื่อมีการร้องเรียนก็เชิญโรงพยาบาลมาชี้แจง ซึ่งก็มักจะได้ข้อมูลว่าต้นทุนดำเนินการสูงอย่างนั้นอย่างนี้

จนเป็นเหตุให้บางแห่งเรียกเก็บค่ายาสูงกว่าปกติ หลัก 100-1,000% กำไรในธุรกิจโรงพยาบาลในตลาดหุ้นแซงธุรกิจอื่น ๆ ส่วนผู้ป่วยที่สิ้นเนื้อประดาตัวไปกับการจ่ายค่ารักษาก็มีให้เห็นหลายราย

ประเด็นนี้ต้องชื่นชมกรมการค้าภายในที่เอาจริง ดำเนินการต่อเนื่องทั้งกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนส่งบัญชีรายชื่อและราคายา และจัดทำฐานข้อมูลออนไลน์เปรียบเทียบราคายาชนิดต่าง ๆ ในแต่ละโรงพยาบาล

เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ยากและเยอะพอ ๆ กับการทำฐานข้อมูลพิกัดฮาร์โมไนซ์สินค้านำเข้า-ส่งออกของกรมศุลกากร แต่กรมการค้าภายในทำสำเร็จในเวลาไม่ถึงปี ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่การทำงานของรัฐ

เท่านั้นยังไม่พอ กรมเตรียมขยายไปสู่การจัดเกรดโรงพยาบาล เพื่อให้เห็นชัดไปเลยว่าแต่ละโรงพยาบาลที่ละแวกเดียวกัน ต้นทุนที่ว่าแพงเทียบกันแล้ว ราคาเป็นอย่างไร หากโรงพยาบาลสามารถอธิบายถึงที่มาที่ไปของราคานั้นได้ ก็ไม่ต้องกลัว ถือเป็นตัวอย่างการใช้ “มาตรการทางสังคม” ควบคู่กับกฎหมาย เข้าไปดูแลอีกทางหนึ่ง

ต่อไปไม่ต้องไล่บี้ตามจับ แค่เห็นท็อปลิสต์ราคายาชนิดเดียวกัน เช่น พาราเซตามอล ที่ รพ.แห่งหนึ่งขายราคาเม็ดละ 4 บาท อีกแห่งเม็ดละ 22 บาท อย่างนี้แล้ว “ผู้ป่วย” ก็ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าควรเลือกเข้าไปรับการรักษาโรงพยาบาลไหน ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้กรมการค้าภายในยังกำหนดหน้าที่โรงพยาบาลว่าต้องดำเนินการ 3 ส่วน คือ 1) แสดง QR code ให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลเปรียบเทียบราคาจำหน่ายยาตามฐานข้อมูลออนไลน์ของกรมการค้าภายใน 2) โรงพยาบาลเอกชนต้องประเมินค่ารักษาเบื้องต้น ต้องแจ้งราคายา เวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ให้ผู้ป่วยทราบ ก่อนจำหน่ายหรือให้บริการ เมื่อผู้ป่วยร้องขอ และ 3) การจำหน่ายยาสำหรับผู้ป่วยนอก ให้โรงพยาบาลต้องออกใบสั่งยาตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และใบแจ้งราคายาให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า โดยในใบสั่งยาต้องประกอบด้วย ชื่อสามัญทางยา ชื่อทางการค้า รูปแบบยา ขนาด หรือปริมาณ จำนวน วิธีใช้ ระยะเวลาในการใช้ ส่วนใบแจ้งราคายาต้องประกอบด้วยชื่อยาตามใบสั่งยา และราคาต่อหน่วย

หากรายใดไม่ปฏิบัติตามกรอบกติกา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้เขียนต้องขอบคุณโรคหวัดที่มาเยือนโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้มีโอกาสได้ลองทดสอบการให้บริการโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ตามสเต็ปโรงพยาบาลมีจุดป้ายคิวอาร์ให้ตรวจสอบข้อมูลยาผ่านฐานข้อมูลออนไลน์สแกนคิวอาร์โค้ด แล้วก็ต้องพิมพ์ชื่อยา “ภาษาอังกฤษ” และสามารถเลือกเปรียบเทียบราคายาโรงพยาบาลอื่น ในรัศมี 10 กม. ได้ถือว่าอำนวยความสะดวกระดับหนึ่ง หากเรามีสมาร์ทโฟน และพอใช้ภาษาอังกฤษได้บ้าง

แต่จุดนี้ยังไม่ใช่จุดที่ผู้ป่วยจะใช้เป็นข้อมูลตัดสินใจในการเลือกใช้บริการ เพราะมันข้ามขั้น คือ ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์ก่อน จึงจะรู้ว่าอาการป่วยเป็นอะไร และจะได้รับยาชนิดใด มีราคาเป็นอย่างไร ซึ่งหมอผู้ตรวจสอบอาการจะเป็นคนแจ้งในห้องตรวจ

อย่างไรก็ตาม โชคดีที่คุณหมอในโรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้นให้ข้อมูลครบถ้วนว่า อาการที่เป็นอยู่ต้องใช้ยาชนิดใด เพื่อรักษาอาการอะไรบ้าง และยาชนิดใดราคาสูง หรือมียาที่ใช้ทดแทนกันได้ และเปิดโอกาสว่าจะเลือกรับยา หรือสามารถขอใบสั่งยาเพื่อนำไปซื้อที่ร้านนอกโรงพยาบาล

หลังจากเราไปติดต่อรับยาและชำระเงิน ดันมาตกม้าตายตอนจบเมื่อตรวจสอบ “บิลค่ายา” ปรากฏว่า แจ้งราคายารวม ไม่ได้ระบุ “ชื่อยา-ราคาต่อหน่วย” ประเด็นนี้ทำให้ไม่ทราบว่า ราคายาที่ได้รับมา 3 ชนิดราคาเท่าไร และเป็นไปตามที่แจ้งในฐานข้อมูลหรือไม่

หลังจากนี้ ต้องฝาก “กรมการค้าภายใน” เพิ่มมาตรการสเต็ปต่อไปอีกนิด ในกรณีนี้หากไม่ทราบราคาในบิลค่ารักษาก็ไม่มีหลักฐานที่จะนำไปตรวจสอบ “มีความแฟร์-สมเหตุสมผล”ตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินการของกรมหรือไม่ และไม่มีหลักฐานเอาผิดกับโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาในราคาสูงผิดปกติได้ ทั้งที่ตามกฎหมายให้ดาบกรมการค้าภายใน ให้สามารถดำเนินการกับโรงพยาบาลที่คิดค่าบริการรักษาพยาบาลสูงเกินสมควร

ทั้งกำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฉะนั้น ก็อย่าให้ดาบที่ได้มาขึ้นสนิม