กรุงเทพ เมืองในฝุ่น

คอลัมน์สามัญสำนึก

ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

 

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้กลับเข้าสู่สถานการณ์มลพิษทางด้านฝุ่นละอองอีกครั้ง แม้ว่าครั้งนี้จะเป็นช่วงสั้น ๆ แต่ก็ถือเป็นการ “ชิมลาง” ฤดูฝุ่นพิษที่จะเริ่มต้นอย่างแท้จริงในเดือนธันวาคม ลากยาวไปถึงช่วงฤดูแล้งในเดือนเมษายน 2563 ที่จะผสมโรงกับปัญหาควันไฟจากการเผาไร่ทั้งในและนอกประเทศด้วย โดยเขตที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือที่เรียกกันว่า PM 2.5 สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตที่มีการจราจรหนาแน่นและเขตที่มีการก่อสร้าง

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประสบการณ์จากการเผชิญปัญหาฝุ่นพิษในปีที่ผ่านมา ต้องเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาทันที ดูเหมือนว่าจะมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ ด้วยการเสนอแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเป็น “วาระแห่งชาติ” (อีกแล้ว) เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง สรุปแผนมีสาระสำคัญภายใต้หลักการเชิงรุกเน้นการป้องกันผลกระทบล่วงหน้าจากตัวชี้วัด 2 ชนิดคือ จำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานต้องเพิ่มขึ้น กับจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ต้องลดลง โดยกำหนดมาตรการไว้ 3 มาตรการคือ

มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ น่าจะหมายถึง การระบุ “อำนาจ” single commandในการจัดการฝุ่นให้ผู้ว่าฯ (ระดับ 3 PM 2.5 มีค่าระหว่าง 76-100) แต่ถ้าค่าสูงเกินกว่า 100 ขึ้นไปให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ

มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิดต้นทาง ให้ดำเนินการ 2 ระยะ 1) ระยะสั้น (2562-2564) ส่งเสริมการใช้น้ำมันกำมะถันไม่เกิน 10 ppm,บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564, ควบคุมเครื่องยนต์เก่า, ลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพ, การเผาในที่โล่ง, การก่อสร้าง+ผังเมือง, ควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม กับ 2) ระยะยาว (2565-2567) อาทิ บังคับใช้รถมาตรฐาน Euro 6 ภายในปี 2565, บังคับใช้น้ำมันกำมะถัน 10 ppm (1 ม.ค. 2567), ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และปรับปรุงแก้ไขการเก็บภาษีรถยนต์ประจำปีสำหรับรถยนต์ใช้งาน

และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ แบ่งเป็นระยะสั้นและระยะยาวเช่นกัน
มาตรการส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาระบบ เครื่องมือกลไกบริหารจัดการ และองค์ความรู้ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม แผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองดูเหมือนจะ “หลงลืม” สาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 จากข้อเท็จจริงที่ว่า PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวลที่มีแหล่งกำเนิดหลักมาจาก “รถยนต์” และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปอีกก็จะพบว่า PM 2.5 เกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก โดยรถยนต์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ รถปิกอัพ มีอัตราการระบายฝุ่น 2.78 กิโลตันหรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของการระบายฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด รองลงมาคือ รถบรรทุกขนาดใหญ่ 2.48 กิโลตันหรือร้อยละ 32 และรถบัสขนาดใหญ่ 1.38 กิโลตันหรือร้อยละ 17.8

ดังนั้นวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างถาวรที่สุดก็คือ การลดจำนวนรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลลง ควบคู่ไปกับการพัฒนาน้ำมันกำมะถันต่ำไม่เกิน 10 ppm/มาตรฐาน Euro 5 แต่ปัญหาก็คือ ในแผนวาระแห่งชาติฉบับนี้เขียนไว้แค่ ให้ “ศึกษา” ความเหมาะสมในการ “จำกัด” อายุรถยนต์นั้นหมายถึง รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลสามารถวิ่งต่อไปได้เรื่อย ๆ จากปัจจุบันที่มีไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคันทั่วประเทศ

ตรงนี้ที่เป็นปัญหาหลักของฝุ่น PM 2.5 ในตัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงเทพมหานคร จากข้อเท็จจริงที่ว่า การแก้ไขปัญหาในแต่ละปีไม่ได้ทำให้ฝุ่น PM 2.5 หายไปไหน มีแต่ฝุ่นจะเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปีต่างหาก