ดัชนีความผาสุกเกษตรกร เป็นอยู่ดีขึ้น-รายได้ระดับปานกลาง

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้จัดทำรายงานดัชนีความผาสุกของเกษตรกร โดยรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณดัชนีความผาสุกครบถ้วนในเดือน เม.ย. 2562 และล่าสุดได้จัดทำเป็นรายงานเพื่อสะท้อนถึงปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และใช้เป็นตัวชี้วัดของแผนพัฒนาการเกษตร ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยใช้ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานพบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทยในปี 2561 มีค่าอยู่ในระดับ 80.29 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ในระดับ 78.94 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

-องค์ประกอบของดัชนีความผาสุกของเกษตรกร แบ่งเป็น 5 ด้าน 15 ตัวชี้วัด ได้แก่

1.ด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรมีรายได้ที่เพียงพอ มีความมั่นคงในอาชีพ มีการออมเงินสำรองใช้ยามฉุกเฉิน มี 6 ตัวชี้วัด ได้แก่ รายได้ครัวเรือน การมีสิทธิในที่ดินทำกิน การมีงานทำ รายจ่ายไม่จำเป็น เงินออมของครัวเรือนเกษตรกร และสัดส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ของครัวเรือนเกษตรกร

2.ด้านสุขอนามัย มีการบริโภคอาหารที่เพียงพอและถูกต้องตามหลักโภชนาการ สุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี มี 2 ตัวชี้วัด คือ ได้บริโภคอาหารดีมีคุณภาพ มีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบถูกสุขลักษณะ

3.ด้านการศึกษา มี 1 ตัวชี้วัด คือ สมาชิกครัวเรือนเกษตรกรได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ

4.ด้านสังคม มี 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ เกษตรกรมีความภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำอาชีพเกษตร ครัวเรือนมีความอบอุ่น คนสูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนในครัวเรือน และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม สถาบันเกษตรกร

5.ด้านสิ่งแวดล้อม มี 2 ตัวชี้วัด คือ สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ และการฟื้นฟูทรัพยากรดิน

พิจารณาลงรายละเอียดแต่ละดัชนีพบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรไทยในปี 2561 ในภาพรวมเพิ่มขึ้น และมีการพัฒนาในระดับดีมาก ได้แก่ ด้านสุขอนามัย และด้านสังคม ส่วนด้านเศรษฐกิจ มีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง ด้านสิ่งแวดล้อม ต้องปรับปรุง ส่วนด้านการศึกษา มีการพัฒนาในระดับที่ต้องเร่งแก้ไข

1.ดัชนีด้านสุขอนามัย ปี 2561 มีค่าอยู่ที่ระดับ 98.17 เป็นการพัฒนาในระดับดีมาก เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ในระดับ 97.14 ตัวชี้วัดที่มีอิทธิพล คือ ตัวชี้วัดรัวเรือนเกษตรกรได้กินอาหารมีคุณภาพได้มาตรฐาน ที่ 98.88 จากปี 2560 ที่ 98.47 ปัจจัยสนับสนุนมาจากนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตัวชี้วัดครัวเรือนเกษตรกรมีการจัดบ้านเรือนถูกสุขลักษณะ อยู่ที่ 97.45 จากปี 2560 อยู่ที่ 95.78

2.ดัชนีด้านสังคม มีค่าอยู่ที่ 90.98 เป็นการพัฒนาในระดับดีมาก เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ในระดับ 90.13 ตัวชี้วัดสำคัญ คือ คนสูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนในครัวเรือน มีค่าอยู่ที่ 99.90 ลดลงจากปี 2560 ที่ 99.94 เล็กน้อย ตัวชี้วัดครอบครัวมีความอบอุ่น มีค่าอยู่ที่ 99.48 จากปี 2560 อยู่ที่ 99.13 ตัวชี้วัดการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม สมาชิกสถาบันเกษตรกร อยู่ที่ 89.69 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 87.82 ตัวชี้วัดเกษตรกรมีความภูมิใจต่อความสำเร็จในการทำอาชีพเกษตร อยู่ที่ 67.65 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 65.37

3.ดัชนีด้านเศรษฐกิจ มีค่าที่ 75.27 พัฒนาในระดับปานกลาง จากปี 2560 ที่ 74.85 โดยตัวชี้วัดที่มีอิทธิพล คือ เงินออมของครัวเรือนเกษตรกร มีค่าอยู่ที่ระดับ 100.00 ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยปี 2561 เงินออมของครัวเรือนเกษตรกรเท่ากับ 72,056 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจาก 66,099 บาท/ปี ในปี 2560 เป็นผลมาจากนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร การเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรฐานการเกษตร และการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ดัชนีตัวชี้วัดรายได้ครัวเรือนเกษตรกร อยู่ที่ 82.79 จากปี 2560 อยู่ที่ 72.83 รายได้ครัวเรือนเกษตรกรในปี 2561 เท่ากับ 247,150 บาท/ปี เพิ่มขึ้นจาก 207,321 บาท/ปี เมื่อปี 2560 การมีสิทธิในที่ดินทำกิน อยู่ที่ 73.76 ลดลงจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 76.83 ตัวชี้วัดรายจ่ายไม่จำเป็น อยู่ที่ 63.24 ลดลงจากปี 2560 ที่ 70.00

ตัวชี้วัดหนี้สินต่อทรัพย์สินของครัวเรือนเกษตรกร ค่าดัชนีอยู่ที่ 50.00 มาตั้งแต่ปี 2559 โดยหนี้สินครัวเรือนเกษตรกรปี 2561 เท่ากับ 150,636 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 123,454 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.02 โดยหนี้สินส่วนใหญ่ใช้เพื่อการลงทุนทำการเกษตร ส่วนทรัพย์สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2561 เท่ากับ 2.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 1.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.89

4.ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อม มีค่าอยู่ที่ระดับ 67.18 เป็นการพัฒนาในระดับที่ต้องปรับปรุงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปี 2560 อยู่ที่ 66.71 ตัวชี้วัดสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม คือ ตัวชี้วัดการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรดิน ค่าอยู่ที่ระดับ 71.97 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 71.15 ตัวชี้วัดสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ อยู่ที่ 61.58 มาตั้งแต่ปี 2559

5.ดัชนีการศึกษา มีค่าอยู่ที่ระดับ 54.22 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 45.50 แต่เป็นการพัฒนาในระดับต้องเร่งแก้ไข ตัวชี้วัดสำคัญ คือ สมาชิกครัวเรือนเกษตรกรได้รับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ โดยค่าดัชนีการศึกษาที่อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยเป็นผู้สูงอายุที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ทำให้ขาดทักษะหลายด้านทั้งด้านการบริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยี และการปรับตัวใหัทันต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผลผลิตน้อย รายได้ลดลง