ประเมินความเสี่ยงเศรษฐกิจปี’63 “วิกฤต ตอ.กลาง” …ตัวแปร

Photo by Hussein FALEH / AFP

คอลัมน์ ดุลยธรรม โดย ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจฯ ม.รังสิต

อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ 3.5-3.6% เทียบกับปี พ.ศ. 2562 ที่เติบโตเพียง 3% (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จีดีพีโลกปี พ.ศ. 2563 คำนวณโดยใช้ IMF Purchasing Power Parity อยู่ที่ 149.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผลกระทบของสงครามทางการค้าปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงระหว่างปี 2544-2562 ที่ระดับ 3.9

สำหรับปีนี้ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกล่าสุดเกิดจากความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่าน และการขยายวงของวิกฤตการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะกดดันให้ราคาน้ำมันและพลังงานเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นไปแล้วกว่า 4% แตะระดับสูงสุดนับแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว

หากอิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบ Hormuz ซึ่งเชื่อมระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับอ่าวโอมาน หรือโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบ Hormuz จะทำให้มีผลกระทบต่ออุปทานของน้ำมันดิบในเอเชีย เนื่องจาก 80% ผ่านช่องทางนี้เพื่อขนส่งมายังเอเชีย มีน้ำมันดิบประมาณ 22.5 ล้านบาร์เรลต่อวันผ่านช่องแคบนี้

ขณะที่ผู้นำสหรัฐประกาศพร้อมโจมตีตอบโต้ 52 เป้าหมายสำคัญในอิหร่าน ปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 20% จากระดับปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่าง ๆ จะสูงกว่าที่คาดการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก

คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ที่ 1.9-2.1% อัตราการขยายตัวของยูโรโซนอยู่ที่ 1.2-1.5% ญี่ปุ่นอยู่ที่ 0.5-0.8% จีนอยู่ที่ 5.8-6% โดยอัตราการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ขยายตัวได้เพียง 1.2-1.2%

ด้านผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงินยังคงเป็นบวกจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และจะปรับเพิ่มขึ้นอีกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และธนาคารกลางจีน ราคาทองคำและดอลลาร์

แข็งค่าปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง นักลงทุนมีความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างดอลลาร์ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำมากขึ้น

ปัจจัยบวก คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอาจไม่รุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในสินค้าไฮเทคโนโลยี จะเกิดสงครามค่าเงินมากขึ้น (currency war) นอกจากนี้ อาจเกิดความขัดแย้งทางการค้าประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจออนไลน์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป ส่วน Brexit นั้นจะยืดเยื้อไปอีกนานกว่าจะมีข้อตกลงกันได้

สำหรับเศรษฐกิจไทยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้มีความไม่แน่นอนและผันผวนสูงมาก และยังมีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แต่ยังไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายท่านเรียกว่า “เผาจริง” หรือวิกฤตเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 เพียงแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจเติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนานอันเป็นผลจากปัญหาในเชิงโครงสร้าง ความถดถอยของความสามารถในการ

แข่งขัน จากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และคุณภาพการศึกษา การแพร่กระจายของการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม นอกจากนี้ยังไม่สามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชั่นได้อย่างเท่าทันทั้งในส่วนของกิจการและธุรกิจต่าง ๆ ตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดภาวะเลิกจ้างและว่างงานเพิ่มมากขึ้นอีกช่วงครึ่งแรกของปีนี้

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีโดยเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน โดยไทยจะมีจีดีพีต่ำที่สุดเป็นอันดับสอง

รองจากสิงคโปร์ในปีนี้ อัตราการขยายตัวจีดีพีโดยเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่ที่ประมาณ 6%เศรษฐกิจไทยอาจกระเตื้องขึ้นได้เล็กน้อยหากภาคการลงทุนและภาคการส่งออกฟื้นตัว การเรียงลำดับความสำคัญของการเร่งรัดในการลงทุนขนาดใหญ่

ของภาครัฐจึงมีความสำคัญ โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 2.6-2.9% ซึ่งเป็นกรอบการคาดการณ์ด้านสูงของศูนย์วิจัย มีความเป็นไปได้ ขณะที่กรอบการคาดการณ์ด้านต่ำมีความเป็นไปได้มากกว่า คือ ขยายตัวต่ำกว่า 2%

การที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้วทั้งที่สถานการณ์ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐดีขึ้น เป็นผลจากปัจจัยลบดังต่อไปนี้ ปัจจัยที่หนึ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่อันเป็นผลมาจากการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

ปัจจัยที่สอง สงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐลุกลามจนอาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมากกว่า 20% จากระดับปัจจุบันในช่วงไตรมาสแรก กระทบต่อเศรษฐกิจในตะวันออกกลาง กระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียโดยรวมจากการพึ่งพาน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง

ปัจจัยที่สาม ภาคการท่องเที่ยวของเอเชียและไทยอาจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงในการแพร่ระบาดแบบเดียวกับโรคซาร์สเมื่อ 17 ปีก่อน ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องดังกล่าวในไทยดีเท่าที่ควร ทำให้การป้องกันการแพร่ระบาดอาจไม่มีประสิทธิภาพ

ปัจจัยที่สี่ ผลกระทบภัยแล้งจะกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรกรรมจนทำให้ปริมาณผลผลิตโดยรวมขยายตัวติดลบได้ คาดว่าติดลบประมาณ -0.5 ถึง -1% ทั้งปี

ขณะที่ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย ปัจจัยที่หนึ่ง เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ส่งผลบวกต่อภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวของไทยในระดับหนึ่ง

ปัจจัยที่สอง การใช้งบประมาณปี 2563 เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการเร่งรัดการใช้จ่ายจากระยะเวลาที่เหลืออีก 9 เดือนของปีงบประมาณ 2563

ปัจจัยที่สาม ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคที่ยังดีอยู่ ทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้สินต่างประเทศระยะสั้นต่ำ การเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราเงินเฟ้อต่ำ

ปัจจัยที่สี่ การดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและทางการคลังปัจจัยที่ห้า การเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ