สร้างมาตรฐานการค้าธุรกิจแฟรนไชส์ ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

 

ทราบหรือไม่ว่าแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป หมายความว่า นับแต่วันที่ดังกล่าวหากผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์รายใดกระทำการฝ่าฝืนแนวปฏิบัติทางการค้าที่กำหนดไว้ มีโอกาสสูงมากที่จะเข้าข่ายมีความผิดตามมาตรา 57 แห่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีโทษปรับทางปกครองในอัตราสูงสุดร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด นับเป็นอัตราค่าปรับค่อนข้างสูงและมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นต้องให้ความสนใจศึกษาทำความเข้าใจแนวปฏิบัติดังกล่าวอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ

มูลเหตุที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้จัดทำแนวปฏิบัติฉบับนี้ เนื่องจากเล็งเห็นและตระหนักดีว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีการเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการ

รายใหม่เป็นจำนวนมากต่างสนใจเข้าสู่วงจรธุรกิจด้วยวิธีการแบบนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อต้องการสร้างมาตรฐานการค้าในธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีธรรมาภิบาล และมีบรรทัดฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน โดยการกำหนดกฎกติกามารยาทที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ความน่าสนใจและสาระสำคัญของแนวปฏิบัติดังกล่าวจำแนกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ก่อนทำสัญญาแฟรนไชส์ ผู้ขายเรียกว่า แฟรนไชซอร์จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับธุรกิจให้ผู้ซื้อที่เรียกว่าแฟรนไชซีทราบ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะต้องถูกเรียกเก็บ แผนการดำเนินธุรกิจ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำคัญที่สุดเมื่อทำสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์กันแล้ว หากมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นจะต้องแจ้งให้แฟรนไชซีที่มีสาขาอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่สุดได้ทราบ และได้รับสิทธิในการเปิดสาขาใหม่ก่อน

ส่วนที่สอง กล่าวถึงพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแฟรนไชซอร์ต้องระมัดระวังและพึงหลีกเลี่ยง ห้ามกระทำ ประกอบด้วยพฤติกรรม ดังนี้ 1.การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิของแฟรนไชซีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การบังคับให้ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการแฟรนไชส์ หรือสินค้า หรือบริการ ประกอบแฟรนไชส์ หรือการกำหนดโควตาให้แฟรนไชซีต้องซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในปริมาณที่สูงกว่าความต้องการใช้จริง และห้ามคืนสินค้าหรือวัตถุดิบส่วนเกิน เป็นต้น

2.การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้แฟรนไชซีต้องปฏิบัติภายหลังจากลงนามในสัญญาร่วมกันแล้ว เช่น กำหนดให้แฟรนไชซีซื้อสินค้าหรือบริการอื่น หรือกระทำการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแฟรนไชส์ เว้นแต่มีเหตุผลอันสมควรทางธุรกิจ หรือมีความจำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพ และมาตรฐานของธุรกิจแฟรนไชส์

3.การห้ามแฟรนไชซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการรายอื่นที่ขายสินค้า หรือบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันและราคาถูกกว่า โดยซื้อจากแฟรนไชซอร์หรือจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการที่แฟรนไชซอร์กำหนดเท่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

4.การห้ามแฟรนไชซีขายลดราคาสินค้าสำหรับสินค้าที่เน่าเสียง่าย (perishable goods) หรือใกล้หมดอายุโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

5.การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างระหว่างแฟรนไชซีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และนำไปสู่การเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (discrimination)

6.การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมอื่นใดที่มีวัตถุประสงค์นอกเหนือไปจากการรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียง คุณภาพ และมาตรฐานของแฟรนไชซอร์ตามสัญญา

แนวปฏิบัติที่กล่าวข้างต้นเชื่อว่าจะสร้างความชัดเจนและโปร่งใสให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้งในด้านของแฟรนไชซอร์และแฟรนไชซีสามารถดำเนินธุรกิจร่วมกันได้อย่างมีธรรมาภิบาล รวมทั้งเป็นการยกระดับและเสริมสร้างมาตรฐานในธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น หากมีข้อสงสัยหรืออยากทราบ (รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เว็บไซต์ www.otcc.or.th