รู้ก่อน “ลงมือ” ทำก่อน ผลประกอบการ “ดีกว่า”

"นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย จำกัด

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

 

“ทรานส์ฟอร์มองค์กร” เป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็พูดถึงอย่างมากในยุคนี้ แต่ในงานวิจัยของรายงานวิจัยล่าสุดของ “เอคเซนเชอร์” ในหัวข้อ “Make Your Wise Pivot to the New” ซึ่งได้สำรวจความเห็นผู้บริหารระดับสูง 1,440 ราย ครอบคลุม 11 อุตสาหกรรมใน 12 ประเทศ มีหลายข้อมูลที่น่าสนใจ

นอกเหนือจากข้อสรุปที่ว่า มีกิจการเพียง 6% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จจากการทรานส์ฟอร์ม

โดยเฉพาะในเรื่องการ “ยึดติด”กับธุรกิจหลักดั้งเดิมขององค์กรในอาเซียน แม้ว่าจะมีการพูดถึงการทรานส์ฟอร์มอย่างมาก แต่เมื่อสำรวจว่า 3 ปีที่ผ่านมารายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจใด 71% ตอบว่า ยังมาจากธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมกว่า 75% และมีเพียง 29% เท่านั้นที่มีรายได้จากธุรกิจใหม่ ซึ่งก็ยังสร้างรายได้ให้น้อยกว่า 25%

ต่างจากค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีกิจการ 33% ที่มีรายได้จากธุรกิจใหม่มากกว่าครึ่งของรายได้ทั้งหมด

ทั้งยังพบว่า ทิศทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อรับมือกับการเข้ามาปั่นป่วนของเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นในเชิง “ตั้งรับ” มากกว่า “เชิงรุก”

โดยพบว่ามีเพียง 38% เท่านั้นที่มีการวางแผนและปรับเปลี่ยนล่วงหน้าเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 72%

นั่นหมายถึงว่า “รอ” ให้เริ่มได้รับผลกระทบแล้วจึงขยับปรับตัว

และเมื่อถามไปถึงความคาดหวังในอนาคต ก็มีเพียง 6% ของบริษัทในอาเซียนเท่านั้นที่คิดว่าจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ ๆ เข้ามาเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดภายใน 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 54%

นั่นแสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจรุกธุรกิจใหม่อย่างแน่วแน่ “ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก”

ขณะเดียวกัน กิจการในอาเซียนยังมีความต้องการขยายธุรกิจใหม่ “น้อย” โดย 50% ของกิจการในอาเซียนหวังว่าจะพัฒนาธุรกิจหลักให้เติบโต มากกว่าที่จะใส่เงินลงทุนไปกับการอัพเกรดเทคโนโลยี

และมีกิจการจำนวนไม่มากนักที่ตระหนักถึงศักยภาพในการปรับรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ และการเพิ่มยอดขายด้วยการทำ cross sell ระหว่างธุรกิจเดิมกับธุรกิจใหม่

ทางออกที่งานวิจัยนี้แนะนำไว้ว่าเป็น “ปฏิบัติการสำคัญ” ของการทรานส์ฟอร์มสำหรับองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นปรับเปลี่ยน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.สำหรับผู้เริ่มต้นทรานส์ฟอร์มได้แก่ กิจการที่มีรายได้ 1-25% จากธุรกิจที่เริ่มต้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนะนำให้ปรับโครงสร้างการดำเนินงานในปัจจุบันตั้งแต่ระดับฐานราก รวมถึงการขยายกิจการหรือทรัพย์สินที่ไม่คุ้มค่าออกไป เพื่อให้สามารถลงทุนในโอกาสใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น

วางพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะด้านนวัตกรรม การมีพื้นที่สำหรับลงมือพัฒนานวัตกรรม เพื่อเริ่มบ่มเพาะแนวคิดใหม่ๆ ในองค์กร

รวมกลุ่มและขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อทดสอบแนวคิดเชิงพาณิชย์ใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม จนมีความพร้อมสำหรับการเข้าไปเจาะตลาดก่อน

2.สำหรับผู้ที่กำลังขับเคลื่อนการทรานส์ฟอร์ม ได้แก่ กิจการที่มีรายได้ 51-75% มาจากธุรกิจที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แนะนำให้ผลักดันการเติบโตของธุรกิจหลัก ไม่ใช่แค่ “ลด” ต้นทุนให้มากที่สุด แต่อาจนำระบบอะนาไลติกส์ที่จะช่วยวิเคราะห์และทำความเข้าใจลูกค้าที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการทำตลาดดิจิทัล และประสบการณ์ที่ตอบโจทย์แต่ละบุคคล (personalization) มาใช้ให้เกิดประโยชน์

เน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพสูงสุดและปรับขยายให้ได้มากที่สุด เช่น การดึงคนเก่ง ๆ หรือซื้อสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง

ฟื้นวัฒนธรรมของธุรกิจหลักให้แข็งแกร่งด้วยการเสริมศักยภาพใหม่เข้าไป เช่น การดึงนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเข้ามาช่วยดูข้อมูลที่มีอยู่ในมือ เพื่อหาโอกาสการใช้บิ๊กดาต้าที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

แต่สิ่งที่น่าสนใจสุดในงานวิจัยชิ้นนี้ “นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้การทรานส์ฟอร์มองค์กรด้วยการทำธุรกิจหลักให้ดีขึ้น และมีการวางแผนเพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ไปด้วย เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำ แต่ “จังหวะ”ที่เลือกทรานส์ฟอร์มคือปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ

โดยผู้ที่ลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มล่วงหน้าตั้งแต่ธุรกิจยังไม่ได้รับผลกระทบ จะมีผลประกอบการที่ “ดีกว่า” รอให้ธุรกิจกระทบแล้วถึงทรานส์ฟอร์ม

64% ของกลุ่มองค์กรนี้จะสามารถเพิ่มยอดขายได้ “อย่างน้อย” 11% และ 57% สามารถดันกำไรให้เติบโตในอัตรานี้เช่นกัน

เรียกว่า “รู้ก่อน” เตรียมตัวก่อน “รับมือ” ก่อน