จาก “สงครามโลก” สู่ “สงครามโรค”

คอลัมน์สามัญสำนึก
โดยสุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญขณะนี้อาจเรียกว่าเป็นการทำ “สงคราม” กับเชื้อโรคที่ชื่อ “COVID-19” ที่กำลังแพร่ระบาดและส่งผลกระทบสั่นสะเทือนไปทั่วโลก

จากอดีตที่มนุษย์เป็นผู้ทำให้เกิด “สงครามโลก” ด้วยอาวุธทำลายล้าง

ช่วงปีที่ผ่านมา 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกอย่าง “สหรัฐ” และ “จีน” ก็เปิดศึก “สงครามการค้า” ทำเศรษฐกิจทั่วโลกสั่นสะเทือน

แต่สำหรับปี 2563 ที่ทั่วโลกกำลังทำ “สงครามโรค” แม้ต้นกำเนิดและการแพร่ระบาดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในประเทศจีน แต่ก็มีประเทศผู้ติดเชื้อเกือบ 30 ประเทศแล้ว

ขณะที่มนุษย์ยังไม่สามารถชนะใน “สงครามโรค”

แม้ว่าด่านแรกผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่กระทบเป็นลูกโซ่ไปตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สายการบิน ไปถึงยักษ์ผู้ผลิตเครื่องบินอย่างแอร์บัสและโบอิ้ง เพราะเมื่อการเดินทางทั่วโลกสะดุด การสั่งซื้อเครื่องบินก็ชะงักด้วยเช่นกัน

รวมถึงอีเวนต์ใหญ่ระดับโลก ตอนนี้ก็ทยอยยกเลิกจัดงานไปจำนวนมาก ทั้งรายการแข่งขันกอล์ฟ แอลพีจีเอของไทยและสิงคโปร์ ในช่วงเดือน ก.พ.นี้ รวมถึงการยกเลิกงาน Mobile World Congress 2020 งานแสดงเทคโนโลยีมือถือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เพราะยักษ์สื่อสารไอทีจากจีนและทั่วโลกประกาศไม่เข้าร่วมงาน

ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กำลังส่งผลกระทบไปทุกวงการ

ขณะที่สภาพเศรษฐกิจในประเทศไทยที่เผชิญปัญหาซ้ำเติมหลายระลอก ตั้งแต่ประเด็นสงครามการค้าที่ยังไม่จางหาย ปัญหาภัยแล้งก็กำลังทุบซ้ำภาคเกษตร และปัญหา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้ามาเกือบ 5 เดือน ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศหยุดนิ่ง

วันนี้เจอไวรัส COVID-19 พ่นพิษซ้ำเติม ทุบภาคท่องเที่ยว และบริการที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญที่ยังไม่มีใครประเมินได้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อไร

ทำให้ ททท.จำใจปรับลดเป้ารายได้ท่องเที่ยวรวมลงจาก 3.18 ล้านล้านบาท เหลือ 2.91 ล้านล้านบาท หายไป 3 แสนล้านบาท และลดเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 40.8 ล้านคน เหลือ 36 ล้านคน หรือลดลง 4.8 ล้านคน

ขณะที่สถานการณ์ของภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในภาวะยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา สัญญาณชัดจากตัวเลข “หนี้เสีย” หรือเอ็นพีแอลของกลุ่มเอสเอ็มอีหลายเซ็กเตอร์ที่พุ่งสูงขึ้น

จึงไม่แปลกที่หลังการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ประกาศนโยบาย “พักหนี้-ยืดหนี้” ให้กับผู้ประกอบการภาคท่องเที่ยวและบริการทันที ตั้งแต่ก่อนที่ผู้ประกอบการออกมาร้องขอ

เพราะ ธปท.และแบงก์พาณิชย์เห็นข้อมูลไส้ในการเงินของหลาย ๆ ธุรกิจเป็นอย่างดี จึงต้องรีบเข้าไปดูแลไม่ให้ธุรกิจเจอไวรัสกลายเป็นหนี้เสีย ที่จะส่งผลกระทบลามไปถึงการจ้างงานอีกจำนวนมหาศาล

ดังนั้น กนง.จึงมีมติเอกฉันท์ลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 1% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เพื่อสนับสนุนให้การปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น ทั้งบี้ให้ธนาคารพาณิชย์เร่งนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกก่อนที่ธุรกิจจะเป็นหนี้เสีย เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

แต่ “สงครามโรค” เพิ่งเริ่มต้นและยังไม่รู้ว่าศึกครั้งนี้จะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะทุกวันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่แน่ ๆ ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยืนยันว่า 2-3 เดือนหลังจากนี้อาการปัญหาของธุรกิจต่าง ๆ จะออกมามากขึ้น


อย่างไรก็ตาม “สงครามโรค” เป็นเพียงอีกหนึ่งปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติม ประเทศไทยยังมีอีกหลายปัญหาที่รัฐบาลยังต้องตัดสินใจแก้ไขแบบยั่งยืน