“โควิด” ชนวนขัดแย้ง ชาวบ้านกดดันผู้ว่าฯ “ปิดเมืองตราด”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กฤษณา ไพฑูรย์

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นใน 60 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 1,771 คน เสียชีวิต 12 ราย (ณ วันที่ 1 เม.ย. 63)

นอกจากจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแล้ว ยังเกิดปมความขัดแย้งในบางพื้นที่ ดังกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในจังหวัดตราด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ยัง “ปลอดผู้ติดเชื้อโควิด-19” ระหว่างฝ่ายราชการ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ส่วนแกนนำองค์กรภาคเอกชน นำโดยสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดตราด และสมาคมโรงแรมและรีสอร์ทจังหวัดตราด รวมถึงชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบนเกาะช้าง

โดยภาคเอกชน “กดดัน” ให้ผู้ว่าฯประกาศ “ปิดเมืองตราด” ให้ lockdown ปิดทางเข้า-ออกทั้งจังหวัด

ต่างจากหลายจังหวัดที่ฝ่ายราชการ โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของจังหวัดออกมาตรการปิด และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน

โดย 3 องค์กรเอกชน และชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านเกาะช้าง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯตราด เมื่อ 30 มีนาคม 2563 ใน 4 ประเด็น

1.ขอความเห็นชอบสั่งให้ปิดช่องทางการเดินทางเข้าออกจังหวัดตราด ยกเว้นการขนส่งสินค้า การเดินทางเพื่อการแพทย์ และพยาบาล กู้ชีพกู้ภัย เป็นต้น เนื่องจากลึก ๆ เอกชนเห็นว่า มีการไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติเข้ามาที่ตราดจำนวนมาก หลังจาก กทม.ประกาศมาตรการเข้มงวด

2.ขอความร่วมมือร้านสะดวกซื้องดให้บริการหลัง 20.00 น. เนื่องจากมีการซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปตั้งวงดื่มกินกัน เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด ซึ่งหลายจังหวัดทำไปก่อนหน้าแล้ว

3.ให้ร้านอาหาร ขายแบบห่อกลับบ้านแทนการรับประทานที่ร้าน

4.ขอให้สถานประกอบการด้านที่พักทุกประเภท งดให้บริการตั้งแต่ 5 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2563 รวม 1 เดือน เพื่อลดอัตราเสี่ยงในการรับคนจากพื้นที่เสี่ยงเข้ามาอยู่อาศัยในจังหวัดตราด ยกเว้นกรณีนักท่องเที่ยวพักอยู่เดิม

แหล่งข่าวจากวงการโรงแรมจังหวัดตราดยอมรับว่าสภาพการท่องเที่ยวจังหวัดตราดหลังโควิดระบาด โรงแรมบางแห่งปิดตัวเอง บางแห่งเปิดเสมือนปิด มีลูกค้าเข้าพักเพียงเล็กน้อย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะค่าใช้จ่ายคือ ค่าจ้างแรงงาน สัดส่วนมากที่สุด และค่าไฟฟ้า น้ำประปา บางแห่งสูงถึงเดือนละ 600,000-1,000,000 บาท

หากมีคำสั่งปิดจากจังหวัดตราด พนักงานจะได้รับการดูแลช่วยเหลือจากเงินประกันสังคม และแรงงานนอกระบบประกันสังคมได้รับการดูแลเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจการท่องเที่ยวภาครัฐยังไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน

“จริง ๆ แล้ว การเป็นพื้นที่เสี่ยงเป็นทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ การเฝ้าระวังปิดโรงแรมที่พักใช้เวลาเพียง 1 เดือน หรืออาจต่อระยะเวลาออกไปบ้าง แต่จะทำให้ตราดมีโอกาสฟื้นตัวเร็วขึ้น และเป็นโอกาสที่ดีที่มาตรการจำกัดการเข้าจังหวัดตราด ภาคเอกชน ประชาชนชาวจังหวัดตราดเห็นด้วยที่จะช่วยกันป้องกันก่อนที่จะพบผู้ติดเชื้อ เพราะตอนนี้ด่านชายแดนปิดหมดแล้ว เหลือเพียงด่านบ้านท่าจอด ที่เป็นจุดคัดกรองแห่งเดียว ที่เป็นทางเข้า-ออกจังหวัดตราด”

นอกจากนี้ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านบนเกาะช้าง ได้ยื่นหนังสือและพยายามเข้าไปเจรจากับผู้ว่าฯ จะขอ lockdown เฉพาะบนเกาะช้าง 1 เดือน

โดยนายสมคิด สายสังข์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านเกาะช้าง ระบุว่า ปัจจุบันจังหวัดตราดและอำเภอเกาะช้างยังไม่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด จึงมีมติยื่น 4 ข้อเสนอ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พิจารณาออกคำสั่งปิดทางเข้า-ออก อำเภอเกาะช้าง ดังนี้ 1) ปิดช่องทางเข้า-ออกอำเภอเกาะช้าง ทางน้ำทุกช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 1-30 เมษายน 2563

2) ห้ามประชาชนเดินทางเข้า-ออก ข้ามเขตพื้นที่อำเภอเกาะช้าง เว้นแต่เพื่อประโยชน์ในการรักษาพยาบาล การขนส่งสินค้าที่จำเป็น ยานพาหนะเพื่อการกู้ชีพฉุกเฉิน รถพยาบาลและยานพาหนะของทางราชการ

3) ห้ามผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด เดินทางเข้า-ออกจากหมู่บ้าน หรือที่เอกเทศ สำหรับที่แยกกันหรือกักกัน หรือข้ามเขตพื้นที่อำเภอเกาะช้าง เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ

4) อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในท้องที่อำเภอเกาะช้าง หรือบุคคลต่างสัญชาติ เช่น แรงงาน นักท่องเที่ยว ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ สามารถเดินทางออกจากพื้นที่อำเภอเกาะช้างได้เท่านั้น

ทางด้าน นายลัคศิษฐ์ มุ่งการ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด กล่าวว่า เกาะช้างปกติมีนักท่องเที่ยวนับ 10,000 คน แต่เมื่อประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑล มีนักท่องเที่ยวไหลมาพักเกาะช้างทั้งไทยและต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่อยู่ในไทย บางคนมาจากพัทยา กรุงเทพฯ หนีการแพร่เชื้อโควิด-19 เพราะตราดยังไม่มีผู้ติดเชื้อ

ล่าสุด นายพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าฯตราด ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตราด เมื่อ 1 เม.ย. 63 พอสรุปใจความสำคัญได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่ปรากฏการติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดตราด มีเพียงบุคคลที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 23 ราย ทราบผลเป็นลบ 22 ราย อีก 1 รายอยู่ระหว่างรอผล

จึงยังไม่มีความรุนแรงถึงขนาดเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ที่ผู้ว่าฯจะใช้อำนาจสั่งปิดสถานประกอบการ หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันและเสี่ยงต่อการแพร่โรค รวมทั้งปิดเส้นทางเข้า-ออก หรือห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่ หรือสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

แต่ยอมกำหนดเวลาปิดเปิดร้านสะดวกซื้อ โดยให้งดบริการเวลา 22.00-05.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

และให้เพิ่มความเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงเป็นพิเศษ และมีการจัดทำระเบียนผู้เดินทางเข้ามาพักอาศัยในหมู่บ้าน/ชุมชน สำหรับมาตรการปิดช่องทางเข้าออกจังหวัดตราด ควรต้องพิจารณาโดยรอบคอบ มิให้ส่งผลกระทบประชาชน เช่น เกษตรกร ชาวสวนผลไม้หรือผู้มีเหตุจำเป็นที่ต้องเดินทาง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ค่อนข้างบานปลาย มีการกดดัน ตอบโต้ผ่านสื่อโซเชียล ขณะเดียวกันภาคเอกชนขอให้ประชาชนทั้งจังหวัดร่วมกันเรียกร้องกดดันให้ผู้ว่าฯ สั่ง lockdown ตราดทั้งจังหวัด เพื่อลดความเสี่ยงโควิด และให้มีสิทธิ์ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ