พัฒนาลุ่มน้ำสาขา ‘แม่ปิง’ (1) เพิ่มศักยภาพพื้นที่เกษตร 1.7 แสนไร่

ภาพ0kd : www.th.wikipedia.com

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย นันทวรรณ ยิ้มแย้ม ทีมกรุ๊ป

แม่น้ำปิง เป็นแม่น้ำสายสำคัญของประเทศไทย มีความยาว 755 กม. มีต้นน้ำอยู่ที่ดอยเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ไหลผ่านหุบเขาระหว่างทิวเขาถนนธงชัยกลาง กับทิวเขาผีปันน้ำตะวันตก ลงมาใต้ผ่าน จ.ลำพูน และเป็นแหล่งน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนภูมิพล ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำปิงที่ อ.สามเงา จ.ตาก แม่น้ำปิงตอนบนเหนือเขื่อนภูมิพล มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญ 6 สาย ได้แก่ น้ำแม่งัด น้ำแม่แตง น้ำแม่กวง น้ำแม่ลี้ น้ำแม่กลาง และน้ำแม่แจ่ม ส่วนแม่น้ำปิงตอนล่างท้ายเขื่อนภูมิพล จะไหลผ่านที่ราบลุ่มมาบรรจบกับแม่น้ำวังที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก ผ่าน จ.กำแพงเพชร บรรจบกับแม่น้ำน่าน รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.ปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

ระบบลุ่มน้ำของลุ่มน้ำปิง ประกอบด้วย ลุ่มน้ำปิงตอนบน มี 14 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ลุ่มน้ำแม่งัด ลุ่มน้ำแม่แตง ลุ่มน้ำปิงส่วนที่ 2 ลุ่มน้ำแม่ริม ลุ่มน้ำแม่กวง ลุ่มน้ำแม่ขาน ลุ่มน้ำแม่ลี้ ลุ่มน้ำแม่กลาง ลุ่มน้ำปิงส่วนที่ 3 ลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนบน ลุ่มน้ำแม่แจ่มตอนล่าง ลุ่มน้ำแม่หาด และลุ่มน้ำแม่ตื่น และลุ่มน้ำปิงตอนล่าง มี 6 ลุ่มน้ำสาขา คือ ลุ่มน้ำปิงส่วนที่ 4 ลุ่มน้ำห้วยแม่ท้อ ลุ่มน้ำคลองวังเจ้า ลุ่มน้ำคลองแม่ระกา ลุ่มน้ำคลองสวนหมาก และลุ่มน้ำแม่น้ำปิงตอนล่าง

เพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง ให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรและอุปโภคบริโภค การพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่ปิงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2527 ในโครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำแม่ปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.จอมทอง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร และทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่ปิง ถึง 3 ครั้ง

กรมชลประทานสนองพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำแม่ปิง โดยก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 22 อ่าง บ่อบาดาลจำนวน 42 แห่ง สถานีสูบน้ำ จำนวน 8 แห่ง สระเก็บน้ำ จำนวน 24 แห่ง และประตูระบายน้ำ จำนวน 4 แห่ง เพื่อให้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ รวมทั้งการสูบน้ำจากแม่น้ำปิงมาให้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภคบริโภคของราษฎรในพื้นที่โครงการ จวบจนถึงปัจจุบันล่วงมาเป็นเวลาถึง 36 ปีแล้ว

พื้นที่โครงการเนื่องจากอยู่ในเขตเงาฝน จึงมีปริมาณฝนที่ตกในฤดูฝนน้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลลงในอ่างเก็บน้ำน้อย บางแห่งมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก นอกจากนั้น พื้นที่การเกษตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งพืชที่เพาะปลูกส่วนมากเป็นพืชยืนต้นที่ผลผลิตมีราคาสูง ได้แก่ ลำไย มะม่วง ซึ่งลำไยในพื้นที่โครงการนับเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญและทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายล้านบาท แต่เป็นพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำและการแย่งน้ำกันในหน้าแล้ง หากมีการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ หลังจากที่ได้มีการใช้งานมาอย่างยาวนานก็จะสามารถเป็นแหล่งน้ำต้นทุน บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงปีที่ฝนแล้ง หรือน้ำในแม่น้ำปิงน้อยให้แก่เกษตรกรหลายหมื่นไร่


การศึกษาเพื่อปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง โดยการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการน้ำ และการจัดการทรัพยากรน้ำ อย่างเป็นระบบ ในพื้นที่โครงการ 172,212 ไร่ มีลักษณะเป็นเนินเขาและภูเขาสูงชันทางด้านตะวันออกลาดเทไปทางทิศตะวันตก และพื้นที่ราบและค่อนข้างราบบริเวณใกล้เคียงลำห้วยและริมแม่น้ำปิง ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการบรรเทาปัญหาด้านทรัพยากรน้ำที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน สภาพการใช้ที่ดินในปัจจุบันและอนาคต คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่เหนือหัวงาน พื้นที่หัวงาน พื้นที่ท้ายน้ำ และพื้นที่ชลประทาน