แผนเปิดเมือง รีสตาร์ตธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

คงไม่ผิดถ้าจะเรียกว่าวิกฤตที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่เวลานี้ เป็นสงครามล้างโลกจาก “ศัตรูที่มองไม่เห็น” อย่างไวรัสโควิด-19

ช่วงเวลาที่คนทั้งโลกกว่า 7,300 ล้านคน เผชิญปัญหาเดียวกันอย่างเท่าเทียม บนความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ทะลุ 2 ล้านคนไปแล้ว และผู้เสียชีวิตกว่า 1.4 แสนคน เหมือนใบไม้ร่วง

ขณะที่มาตรการ “ล็อกดาวน์” และการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อหยุดการแพร่ระบาดก็เป็นเหมือนการ “หยุดระบบเศรษฐกิจ”

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ล่าสุด IMF ประกาศปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจโลกติดลบ -3.0% จากเดิมคาดการณ์ +3.3% และระบุว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งวิกฤตซับไพรมปี 2551-2552 และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยแย่ที่สุดตั้งแต่ great depression หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง

“ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังบอกว่า มาตรการล็อกดาวน์มีต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงมาก เหมือนการสั่งให้ “คนกลั้นหายใจ” หากกลั้นนาน ๆ ก็มีโอกาสตาย ดังนั้นรัฐบาล “ต้องใช้เวลา” ในช่วงล็อกดาวน์ให้คุ้มค่าเร่งดำเนินมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด

และสิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจมีความรับผิดชอบในการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างแท้จริง

ดังนั้นหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันลดลง เมื่อ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้นัดระดมสมองภาคเอกชนชุดใหญ่ ถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการทำแผน “exit strategy” กลยุทธ์การออกจากล็อกดาวน์ เพื่อผ่อนลมหายใจให้ระบบเศรษฐกิจ ลดผลกระทบคนว่างงาน แต่แน่นอนว่าไม่ใช่การเปิดเมืองทั้งหมด แต่ต้องเป็นการเปิดบางพื้นที่ กิจการบางประเภทเท่านั้น และทำแบบมีเงื่อนไข

เพราะนี่เป็นการเดิมพันความเสี่ยงระหว่าง “ผลกระทบเศรษฐกิจ” กับ “ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น”

ขณะที่หลายคนพูดถึง “new normal” หลังโควิด-19 ที่ไม่เหมือนเดิม

มาตรการล็อกดาวน์ทำให้เกิดก้าวกระโดดของการใช้เทคโนโลยีในทุกมิติ และธุรกิจบนโลกออนไลน์เติบโตอย่างมหาศาล ขณะที่ผลจากโควิด-19 กำลังดิสรัปต์สร้างการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่

และวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ อาจทำให้โลกเปลี่ยนทิศ กระแส globalization จะถูกปฏิเสธมากขึ้นในโลกยุคหลังโควิด-19 ประเทศต่างๆ จะหันมาเน้นการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ พึ่งพาซัพพลายเชนในประเทศมากขึ้น รวมทั้งลดพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป เพราะเห็นผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงผลกระทบต่อประเทศไทยที่จะตามมาอีกมากมาย

สำหรับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ โควิด-19 ทำให้มีคนว่างงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เฉพาะประเทศไทยคาดการณ์กันว่าตัวเลขคนตกงานช่วงกลางปีนี้ประมาณ 7 ล้านคน และหากการแพร่ระบาดยังยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน ก็จะทำให้ตัวเลขคนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกและท่องเที่ยวบริการ ที่จะได้รับผลกระทบหนักสุด

ดังนั้นการ “รีสตาร์ตธุรกิจ” เพื่อผ่อนลมหายใจให้ระบบเศรษฐกิจ ถือเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งขณะนี้หลายประเทศก็เริ่มมีแผนเปิดเมือง โดยถอดบทเรียนจาก “ประเทศจีน” ที่เริ่มคลายล็อกเศรษฐกิจ พร้อมกับมาตรการที่ต้องคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากมาตรการแจกเงินเยียวยาประชาชน รัฐบาลยังมีโจทย์ใหญ่ที่ต้องบริหารจัดการคือการสร้างงาน สร้างโอกาสความอยู่รอดของธุรกิจต่าง ๆ หลังจากนี้

เพราะเชื่อว่าถึงที่สุดหลายธุรกิจคงไม่ได้ไปต่อ หลายธุรกิจคงไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เหมือนเดิม และโลกธุรกิจหลังโควิด-19 ก็จะไม่เหมือนเดิม