ลุยตลาดที่ยังมีหวัง ก่อนเครื่องยนต์ส่งออกดับ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กษมา ประชาชาติ

แม้ว่าไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี “ระดับโลก” แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกช่วงเวลาแค่ 3-4 เดือนจนถึง 30 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วถึง 17 ล้านคน รักษาหาย 10 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วประมาณ 6.69 แสนคน ประเทศที่ติดเชื้อสูงสุด คือ สหรัฐ บราซิล และอินเดีย

เมื่อประเทศอื่นยังติดเชื้อ ไทยก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย ที่น่าห่วงคือ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวรวม 70% ของจีดีพี ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกส่งออกไทยติดลบไปแล้ว 2.1% ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าทั้งปีนี้มีโอกาสติดลบสูงสุด 2 หลัก หากอ้างอิงตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์การศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าจะติดลบ 13.5% ถือว่าสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่าจะติดลบ 11%

ที่ผ่านมาการค้าไทยผูกพันอยู่กับการค้าโลก “นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลก ทำให้องค์การการค้าโลก (WTO) คาดการณ์ว่าในปี 2563 การค้าสินค้าของโลกจะหดตัว 13-32% ทั้งจากความไม่แน่นอนสูง และโอกาสการฟื้นตัวยังยากจะคาดเดาว่าปีหน้าจะได้เห็นหรือไม่

สนค.แนะนำผู้ส่งออกว่า กลยุทธ์สำคัญของการส่งออกควรมุ่งไปที่ตลาดที่มีแนวโน้มฟื้นตัวก่อน โดยการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ เป็นประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี มีผู้ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำลงจนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้

โดยตามข้อมูลดัชนีชี้วัดความเข้มงวดของรัฐบาลแต่ละประเทศในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 หรือดัชนี OxCGRT ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งชี้วัดจากมาตรการ 3 ด้าน คือ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การปิดโรงเรียน และการจำกัดการเดินทาง มาตรการด้านเศรษฐกิจ เช่น การสนับสนุนรายได้ให้ประชาชน การให้ความช่วยเหลือต่างประเทศ และมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น ระบบการตรวจหาโควิด-19 และการลงทุนด้านสาธารณสุข โดยกำหนดค่าคะแนนระหว่าง 1-100

ดัชนี OxCGRT ระบุว่า มี 9 ประเทศคือ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา สปป.ลาว และไทย จัดอยู่ในกลุ่มรัฐบาลที่รับมือกับไวรัสโควิด-19 ได้ดี

ขณะที่ธนาคารโลกก็ได้ออกรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจล่าสุดในปี 2563 ระบุว่า ประเทศที่ยังคงสามารถรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับบวกได้ และคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ได้แก่ จีน เวียดนาม เมียนมา ลาว และบางประเทศในแอฟริกาเช่นกัน

สนค.วิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตลาดศักยภาพในแต่ละภูมิภาค เช่น กลุ่มเอเชียตะวันออกประกอบด้วย จีน ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ตลาดอาเซียนประกอบด้วย มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา และ สปป.ลาว ยังมีการส่งออกได้ดีในช่วงครึ่งปีแรก 2563 อาทิ จีน ส่งออกขยายตัว 5.8% ฮ่องกง ขยายตัว 1.4% และมีสินค้าบางรายการยังสามารถ “รักษาระดับการเติบโต” ได้ เช่น อาหาร สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (work from home) เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป

สิ่งที่สำคัญสำหรับการผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลัง คือ การสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและสุขอนามัยของสินค้า และผู้ส่งออกต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจและการค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุค new normal เพื่อหาจุดขายใหม่ ๆ ให้แก่สินค้าและบริการ จะทำให้สามารถรักษาฐานตลาดเดิม และชิงส่วนแบ่งจากตลาดใหม่ได้ต่อ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมีผลเชื่อมโยงถึงภาคการผลิต ซึ่งแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. เริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80.0 จากเดือน พ.ค.ซึ่งอยู่ที่ 78.4 ถือเป็นสัญญาณที่ดีเพราะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับ 100 เพราะเอกชนยังกังวลปัญหาเรื่องสภาพคล่องจากคำสั่งซื้อใหม่ที่ชะลอ รวมถึงต้นทุนประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง

รวมถึง “เรื่องการเมืองในประเทศ” ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ การสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน ท่ามกลางความระส่ำระสายเรื่องการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอก 2


ชัดเจนว่าครึ่งปีหลังคงหวังพึ่งพาเครื่องยนต์ “ส่งออก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ยากแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญจึงน่าจะอยู่ที่การเตรียมการรับมือ และมองข้ามชอตไปถึงกลุ่มประเทศที่มีโอกาสฟื้นได้ก่อน