เอกสารการโฆษณา ใช้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาได้

ช่วยกันคิด
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

คงไม่มีใครโต้แย้งใด ๆ จากคำกล่าวที่ว่า “การโฆษณา เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของสังคมผู้บริโภค” เพราะปัจจุบันการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการซึ่งมีหลากหลายชนิด และหลากหลายยี่ห้อในประเภทเดียวกัน

ผู้บริโภคมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบข้อมูลของสินค้าเหล่านั้นเสียก่อนว่า เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด และมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดอย่างไรบ้างในการซื้อสินค้านั้น ๆ เช่น การรับคืนสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือการรับประกันสินค้า เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการโฆษณาเป็นจุดเริ่มต้นการสื่อสารกัน ระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ก่อนจะมีการซื้อขายเกิดขึ้น

การโฆษณาในปัจจุบันสามารถกระทำได้อย่างกว้างขวาง โดยอาศัยสื่อต่าง ๆ หรือแม้แต่ทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่สามารถทำการโฆษณาไปได้ทั่วโลก ข้อความที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้ในการโฆษณามักเป็นคำเชิญชวนให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าของตน เพราะมีข้อดีหรือคุณภาพสินค้าที่โดดเด่น หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลจากสมาคมหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและเกิดความต้องการซื้อสินค้านั้น ๆ

จนบางครั้งการโฆษณาก็มีลักษณะที่เกินจริง หรือโฆษณาแล้วแต่ไม่ได้กระทำตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งส่วนใหญ่ในกรณีหลังนี้มักเป็นการโฆษณาขายอสังหาริมทรัพย์นั่นเอง โดยจะเสนอให้เห็นว่าโครงการของผู้ประกอบธุรกิจมีลักษณะอย่างไร เช่น ลักษณะรูปแบบอาคาร หรือทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการ อันได้แก่ ถนน สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ น้ำประปา และอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแต่คำโฆษณายังมิได้เกิดขึ้นจริง จนกว่าผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินการจัดสร้างแล้วเสร็จ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานาน หลังจากที่ผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว

ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคก็คือ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ดำเนินการจัดสร้างให้ตามที่ได้โฆษณาไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งผู้บริโภคทราบได้ก็ต่อเมื่อได้เข้าไปอยู่เรียบร้อยแล้ว กรณีพิพาทจึงเกิดขึ้นเพราะผู้ประกอบธุรกิจมักจะกล่าวอ้างว่า คำโฆษณาดังกล่าวมิได้ปรากฏอยู่ในสัญญาและสัญญาที่กระทำกันอยู่

ในปัจจุบันนั้น ผู้ประกอบธุรกิจมักจะเป็นผู้กำหนดซึ่งจะบอกหน้าที่ที่ผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติตามสัญญา ส่วนหน้าที่ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติมักจะมิได้กำหนดไว้ในสัญญาอย่างครบถ้วน

ADVERTISMENT

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคทางหนึ่งก็คือ ก่อนที่ผู้บริโภคจะทำสัญญาจะซื้อจะขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่าง ๆ กับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคควรตกลงกับผู้ประกอบธุรกิจให้ใช้เอกสารหลักฐานการโฆษณา เช่น แผ่นพับ แผ่นปลิว โปสเตอร์ ฯลฯ ระบุเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย

เพื่อให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย หากผู้ประกอบธุรกิจมิได้กระทำตามที่โฆษณาไว้ในหลักฐานการโฆษณาที่ได้แนบท้ายไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว ผู้บริโภคสามารถบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจทำตามที่โฆษณาไว้ได้

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในกรณีที่ต้องมีการซื้อสินค้าโดยทำเป็นสัญญาซื้อขายตามกฎหมาย หากข้อความในสัญญาระบุเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ควรซักถามรายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน หากไม่แน่ใจควรปรึกษากับผู้ที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายก่อนลงนามในสัญญา และเมื่อได้ตกลงทำสัญญาแล้ว ผู้บริโภคจะต้องเก็บเอกสารที่สำคัญให้ครบถ้วน เช่น เอกสารแนะนำสินค้า ใบสั่งจองสินค้า ใบรับประกันสินค้า ใบเสร็จรับเงิน ฯลฯ

เอกสารดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการติดต่อกลับไปยังผู้ประกอบ ธุรกิจ และหากพบว่ามีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ผู้บริโภคก็สามารถนำเอกสารหลักฐานดังกล่าวมาร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้