ภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โครงการผันน้ำ…ทางออกแก้วิกฤต

ชวลิต จันทรรัตน์
ประธานกรรมการบริหาร ทีมกรุ๊ป

ประเทศไทยประสบกับปัญหาความแห้งแล้งต่อเนื่องกันมา 2 ปีแล้ว คือในปี พ.ศ. 2562 และ 2563 โดยในปี 2562 นั้น ฤดูฝนเริ่มล่าช้าไป 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 21 พ.ค. 2562 และมีฝนตกในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งฤดู โดยมีฝนตกรวมเพียง 1,320 มม. (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 17%) โดยที่ภาคกลางมีฝนตกเพียง 925 มม. (มีฝนตกน้อยกว่าภาคอื่น ๆ โดยต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 25%) เมื่อถึงปลายฤดูฝน สิ้นเดือน ต.ค. 2562 น้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้อยมาก ไม่เพียงพอที่จะจัดสรรให้แก่การเพาะปลูกในฤดูแล้งได้

สภาวะดังกล่าวจึงทำให้ฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมานั้น จึงเป็นปีที่มีความแห้งแล้งมากในรอบ 40 ปี
(เป็นรองถัดจากปี พ.ศ. 2522) และได้มีผลกระทบมาถึงการเพาะปลูกในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมนี้ ที่ก็ไม่มีน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรส่งน้ำให้ด้วย กรมชลประทานจึงได้รณรงค์ให้เกษตรกรในพื้นที่
ชลประทานต่าง ๆ ใช้น้ำฝนในการเพาะปลูกเป็นหลักจนถึงเดือนสิงหาคม

หลังจากที่พายุซิลลากูเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือ (วันที่ 2 และ 3 ส.ค.) และพายุฮีโกสเคลื่อนตัวเข้าไปในประเทศลาว (วันที่ 21 และ 22 ส.ค.) ประกอบกับมีร่องฝน และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ และภาคอีสานตอนบน จึงมีน้ำมากขึ้นทำให้สามารถจัดสรรน้ำส่งให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมในบางพื้นที่ได้บ้าง

ในปี 2563 นี้ ฤดูฝนเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.เป็นต้นมา โดยถึงต้นเดือนกันยายนนี้ซึ่งเป็นกลางฤดูฝนแล้ว พบว่าภาคเหนือมีฝนตกรวมเพียง 713 มม. (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 15%) ภาคกลางมีฝนตกเพียง 582 มม. (เป็นภาคที่มีฝนตกน้อยที่สุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 26% ดังแสดงในรูป) ภาคอีสานมีฝนตกเพียง 881 มม. (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 13%) ภาคตะวันออกมีฝนตก 1,038 มม. (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 18%) โดยในพื้นที่ทั้ง 4 ภาคดังกล่าวมีฝนตกน้อยกว่าปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่มีฝนน้อยอยู่แล้ว

จากข้อมูลของกรมชลประทานพบว่า ณ ต้นเดือน ก.ย.นี้ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณอยู่ไม่ถึงครึ่งอ่าง กล่าวคือ ในภาคเหนือ มีน้ำใช้การอยู่รวม 3,860 ล้านลูกบาศก์เมตร (20% ของความจุใช้การ) ภาคกลาง 235 ล้านลูกบาศก์ (14%) ภาคอีสาน 2,325 ล้าน (26%) และภาคตะวันออก 906 ล้านลูกบาศก์เมตร (38%) โดยที่ได้เข้าสู่ฤดูฝนมาแล้ว 3 เดือนครึ่ง และมีโอกาสที่จะได้รับน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำในอีกเพียง 3 เดือนเท่านั้น

ในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกของเรานี้ โดยปกติจะมีพายุจร (พายุหมุนเขตร้อน) ก่อตัวขึ้น ประมาณปีละ 30 ลูก แต่ในปี 2563 นี้ เวลาได้ผ่านมาถึงครึ่งหนึ่งของช่วงฤดูพายุจรแล้ว ปรากฏว่ามีพายุจรก่อตัวขึ้นเพียง 10 ลูกเท่านั้น โดยเป็นพายุที่มีอิทธิพลทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักในภาคอีสานตอนบน และภาคเหนือตอนบนเพียง 3 ลูก โดยมีผลทำให้มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ และภาคอีสานได้ 2,700 ล้าน ลบ.ม. และ
680 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ และมีการวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สภาพภูมิอากาศของภูมิภาคนี้จะมีโอกาสร้อยละ 55 ถึง 60 ที่ในช่วงเดือน ส.ค. 2563 ถึง ก.พ. 2564 นั้น จะเป็นช่วงที่เป็นสภาวะลานิญา (ฝนมาก น้ำมาก)

แม้ยังมีความหวังว่า ในช่วงปลายฤดูฝนนี้จะมีฝนตกมาก ถึงฝนตกหนัก ในบางช่วงเวลา ในบางพื้นที่ที่มีร่องฝน (ร่องความกดอากาศต่ำ) พาดผ่าน หรือมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้น หรือมีพายุจรเข้ามาถึงประเทศไทยก็ตาม ฝนที่จะตกในช่วงปลายเดือน ก.ย. และในเดือน ต.ค.นั้น จะเป็นฝนที่ตกในพื้นที่ใต้อ่างเก็บน้ำเป็นส่วนใหญ่ จึงมีโอกาสน้อยมากที่สิ้นฤดูฝนปีนี้จะมีน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือและภาคอีสาน โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยทั่วไป คาดว่าจะเก็บน้ำได้เพียงครึ่ง หรือค่อนอ่างเท่านั้น และนอกจากน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกในช่วงปลายฤดูฝนเหล่านั้นจะไม่ไหลเข้าไปเก็บในอ่างเก็บน้ำแล้ว ยังจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำต่าง ๆ อีกด้วย

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 8 ล้านไร่ ครอบคลุม 22 จังหวัดภาคกลาง มีความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ในฤดูแล้งประมาณ 12,000 ล้าน ลบ.ม. โดยจะใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

ในปีที่แล้วเมื่อสิ้นฤดูฝน ณ วันที่ 31 ต.ค. 2562 อ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 เก็บกักน้ำใช้การได้รวมเพียง 5,380 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุใช้การ และในครึ่งแรกของฤดูฝนปี 2563 นี้นั้น เนื่องจากปริมาณฝนในพื้นที่รับน้ำของอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 ที่อยู่ในภาคเหนือนั้น มีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 15 และต่ำกว่าปริมาณฝนสะสมในเดือนเดียวกันของปี 2562 ถึงร้อยละ 10 จึงทำให้ ณ วันที่ 7 ก.ย. 2563 ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างทั้ง 4 มีอยู่เพียง 4,435 ล้าน ลบ.ม. (ต่ำกว่าปี 2562 ถึง 29%) และปริมาณน้ำท่าไหลเข้าอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 มีรวม 4,501 ล้าน ลบ.ม. (ต่ำกว่าปี 2562 ถึง 14%)

ดังนั้น คาดได้ว่าปริมาณน้ำที่จะกักเก็บได้ในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 ถึงสิ้นฤดูฝนปีนี้ ก็คงจะไม่มากกว่าในปีที่แล้ว ด้วยการบริหารจัดการการใช้น้ำท้ายอ่างเก็บน้ำให้ดียิ่งขึ้น คาดว่าสิ้นฤดูฝนนี้จะสามารถเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 4 ได้รวมประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจึงจะต้องจัดสรรการใช้น้ำในปลายฤดูฝนของปี 2563 นี้ ให้สามารถกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และต้องพร้อมที่จะรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2564 นี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงทั้ง 22 จังหวัดของพื้นที่ชลประทานเจ้าพระยาทั้งหมด

ในภาคอีสานนั้น แม้ในฤดูฝนของปีนี้จะเก็บกักน้ำได้มากกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำเพียง 1 ใน 3 ของความจุอ่างเก็บน้ำเท่านั้น คาดว่ามีโอกาสน้อยมากที่น้ำจะเต็มอ่างเก็บน้ำ (ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมอ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การติดลบ -121 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นติดลบ -6% ของความจุ คาดว่าถึงสิ้นฤดูฝนนี้ก็คงจะไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ถึงครึ่งอ่าง) ผลกระทบในการขาดแคลนน้ำก็จะส่งผลไปถึงทุกจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด

ส่วนในภาคตะวันออกนั้นมีการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1 ใน 3 ของความจุแล้ว และมีโอกาสที่จะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากฝนที่จะตกชุกในปลายฤดูฝนนี้จะทำให้ในสิ้นฤดูฝนปีนี้ จะมีน้ำเก็บกักอยู่ในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในเกณฑ์ดีค่อนข้างมาก โดยที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลมีน้ำเก็บกักอยู่มากถึงร้อยละ 78 แล้ว อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องบริหารจัดการสูบน้ำไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อลดการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของพื้นที่จังหวัดชลบุรีต่อไป

ในการบรรเทาผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเป็นการเฉพาะหน้าในฤดูแล้งของปี 2564 ที่จะถึงนี้ จะต้องเริ่ม
ตั้งแต่วันนี้ โดยการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนในทุกกิจกรรม ในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องส่งเสริมมาตรการ 3R คือ ลดปริมาณการใช้น้ำ การใช้น้ำซ้ำ และการบำบัดน้ำเสียแล้วนำมา
หมุนเวียนใช้ (reduce, reuse and recycle) ตามเป้าหมายของสภาอุตสาหกรรมฯที่จะลดการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมลงให้ได้ร้อยละ 30 ให้ได้เป็นผลอย่างจริงจัง

ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น ในฤดูแล้งของปี 2563 ที่ผ่านมา กรมชลประทานก็ได้งดไม่ส่งน้ำให้แก่การปลูกข้าว แต่ก็ได้มีเกษตรกรเสี่ยงปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ นับถึงเดือน ม.ค. 2563 ถึง 4.2 ล้านไร่ ดังนั้นในช่วงสิ้นปี 2563 นี้ เกษตรกรที่ในปัจจุบันได้ปลูกข้าวนาปีไปแล้วกว่า 8 ล้านไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็ต้องงดการปลูกข้าวนาปรังกันอย่างจริงจัง หันไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อย มีมูลค่าสูง ที่ตลาดต้องการ ตามที่เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอสนับสนุน รวมกลุ่มกันปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อที่ทางราชการจะได้เข้าไปสนับสนุนการเพาะปลูกแบบเกษตรผสมผสาน เกษตรประณีต เกษตรแม่นยำ และไปถึงเกษตรอัจฉริยะ สนับสนุนปัจจัยการผลิต รวมไปถึงส่งเสริมการแปรรูป และทำการตลาดได้อย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯได้ต่อไป

ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวนั้น ควรมีการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในทุกพื้นที่ กระจายไปอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่มีความต้องการใช้น้ำ กล่าวคือ สร้างแหล่งน้ำของตนเอง เพื่อช่วยกันเก็บเกี่ยวน้ำมาเก็บกักไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบของสระเก็บน้ำในที่สาธารณะ สระเก็บน้ำในไร่นา สระเก็บน้ำเอกชน เพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำให้มากขึ้น รวมถึงการปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมให้เก็บน้ำได้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ การขุดลอก การปูแผ่นยางกันน้ำรั่วซึม การซ่อมแซมปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ เป็นต้น และการสร้างสระเก็บน้ำใหม่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

โดยให้แหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ เหล่านั้นมีการเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ลำคลอง แม่น้ำ หรืออ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อร่วมกันจัดการเก็บเกี่ยวน้ำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ และสระต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และให้มีการเชื่อมโยงเป็นระบบ สามารถที่จะเติมน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่กว่าที่มีปริมาณน้ำมั่นคงเติมให้กับสระน้ำต่าง ๆ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปตลอดฤดูแล้ง ทั้งนี้ หลังจากที่พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำได้กำหนดรายละเอียดในการใช้น้ำ และมีการเก็บค่าน้ำกันอย่างจริงจังแล้ว ก็จะมีผลทำให้มีการประหยัด และมีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และจะเป็นแรงจูงใจให้มีการก่อสร้างแหล่งน้ำเอกชนมากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีความแปรปรวนมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต มีผลทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้ปีที่มีฝนตกน้อยเกิดบ่อยครั้งมากขึ้น มีลักษณะของฝนที่ตกหนักในพื้นที่จำกัด ฝนไม่ตกแผ่กระจายเป็นพื้นที่กว้าง จึงควรมีการพิจารณาก่อสร้างโครงการผันน้ำที่ได้ศึกษาไว้แล้วหลายแห่ง เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำขนาดใหญ่และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เข้ามาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เช่น โครงการยวม-ภูมิพล โครงการกก-อิง-น่าน โครงการห้วยหลวง-ลำปาว โครงการเลย-ชี-มูล เป็นต้น