อย่างไร? …เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม

คอลัมน์ แตกประเด็น
สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า

โลกของธุรกิจย่อมมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่มีวันหยุดนิ่ง โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยน กอปรกับการขยายตัวของสังคมเมืองที่มีอัตราเพิ่มขึ้นมาก

เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวอย่างรุนแรง โดยมีการใช้กลยุทธ์การตลาดในหลากหลายวิธี ภายใต้พื้นฐานศักยภาพที่มีอยู่เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่จำกัดให้มากที่สุด

แน่นอนว่าบางครั้งอาจมีการใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง ในลักษณะที่เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม เอาเปรียบคู่แข่งหรือคู่ค้าที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องสนใจรับรู้อย่างยิ่ง การค้าที่ไม่เป็นธรรมมีลักษณะอย่างไร ?

ตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาการกระทำอันเป็นผลเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น พ.ศ. 2561 ได้กำหนดแนวทางในการพิจารณาพฤติกรรมที่เป็นข้อห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติ

การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ดังนี้

1.การกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กําหนดราคาในการซื้อขายสินค้าหรือบริการสูงหรือต่ำอย่างไม่เป็นธรรม การกีดกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งมีส่วนร่วมในการดําเนินการของสมาคมหรือการรวมกลุ่มทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

2.การใช้อํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่มีอํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองเหนือกว่าผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น และใช้อํานาจตลาดหรืออํานาจต่อรองที่เหนือกว่าในการเอาเปรียบ หรือจํากัดทางเลือกของคู่ค้าดังกล่าวอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

3.การกําหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจํากัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรมเช่น การกําหนดเงื่อนไขทางการค้าที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรระหว่างลูกค้าต่างราย การกําหนดเงื่อนไขห้ามมิให้คู่ค้าดําเนินธุรกิจ หรือทําการค้ากับคู่แข่งของตนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือกําหนดเงื่อนไขทางการค้าที่จํากัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของคู่ค้ากับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำว่า “อย่างไม่เป็นธรรม” ในแนวปฏิบัติข้างต้นกำหนดไว้ดังนี้

1) เป็นการกระทำที่ไม่เคยมีการปฏิบัติมาก่อนที่มิใช่การดำเนินการไตามธุรกิจปกติ

2) เป็นเงื่อนไขที่มิได้กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษร และมิได้แจ้งให้คู่ค้าทราบเป็นการล่วงหน้าภายในระยะเวลาอันสมควรตามแนวทางการค้าปกติของคู่กรณี

3) เป็นการกระทำที่ไม่สามารถรับฟังได้ด้วยเหตุผลอันชอบธรรมในทางธุรกิจ การตลาดหรือเศรษฐศาสตร์ รวมถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างคดีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ได้มีการพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า ได้แก่ กรณีการปฏิเสธมิให้เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์อย่างไม่เป็นธรรม บริษัทออร์แกไนเซอร์จัดงานแสดงอสังหาริมทรัพย์โดยเช่าพื้นที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ต่อมาเมื่อใกล้กำหนดวันจัดงานผู้ประกอบธุรกิจศูนย์การค้าดังกล่าวได้แจ้งบริษัทออร์แกไนเซอร์ห้ามไม่ให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (developer)คู่กรณีเข้าร่วมงานแสดงอสังหาริมทรัพย์โดยหยิบยกหลักการพิจารณาเรื่องความถี่ในการเข้าร่วมงานแสดง และความทับซ้อนของโครงการอสังหาริมทรัพย์ (สินค้า) ของบริษัทคู่กรณีมีความทับซ้อนกันกับโครงการของผู้เช่าพื้นที่หลักภายในศูนย์การค้า

แต่ข้อเท็จจริงพบว่ามีบริษัทอื่นที่มีลักษณะโครงการใกล้เคียงกับโครงการของบริษัทคู่กรณีก็ยังสามารถเข้าร่วมงานได้ ลักษณะพฤติกรรมดังกล่าว กขค.พิจารณาแล้วว่ามีความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 กฎหมายได้กำหนดโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด

จากที่กล่าวมาข้างต้นคงจะช่วยให้ทราบได้ว่า พฤติกรรมอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางการค้าว่ามีองค์ประกอบอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นสิ่งเตือนใจผู้ประกอบธุรกิจให้มีความตระหนักและระมัดระวังพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

ในท้ายที่สุดแล้วเชื่อว่าจะสามารถยกระดับการค้าให้มีมาตรฐานตามหลักสากลและเป็นระบบการค้าที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โทร.0-2199-5400 หรือเว็บไซต์ www.otcc.or.th