ย้อนแย้ง…

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย กษมา ประชาชาติ

หลายคนคงเคยได้ยินเพลงของวงดนตรีหนึ่งที่ชื่อ “เก็ตสึโนวา” เป็นวงดังในหมู่วัยรุ่น (อย่างเรา) พอสมควร ความโดดเด่นของวงนี้มีความเป็นเอกลักษณ์การทีมนักร้องที่เปิดตัวการใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดคาดหน้า (มองไกลก่อนจะเกิดโควิด-19) ทำให้คนฟังงง ๆ ว่าจะปิดเพื่อแก้เคล็ดเหรอ แต่เพลงเขาก็เพราะ แถมดังเกือบทุกเพลง

ที่โดดเด่นเลย คือ วงนี้มักจะตั้งชื่อเพลงด้วยคำย้อนแย้ง เช่น ไกลแค่ไหนคือใกล้ เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล ความรู้สึกที่ไม่เคยรู้สึก ความเงียบที่ดังที่สุด ดวงจันทร์กลางวัน..เข้าใจเลือกใช้คำจริงๆ ที่เริ่มต้นบทความว่าด้วยเรื่องย้อนแย้ง

เพราะช่วงนี้มองไปทางไหนก็เจอเรื่องที่พาให้อารมณ์รู้สึกย้อนแย้งไปหมด โดยเฉพาะอารมณ์การทำข่าวในช่วงที่ผ่านมา พายุเข้าหลายลูก ทั้งโนอึล เมื่อเดือนกันยายน ฮีโกส ปลายเดือนสิงหาคม ซินลากู เดือนสิงหาคมหลิ่นฟา ล่าสุดต้นเดือนตุลาคม “ฝนตก” กระหน่ำมีน้ำล้นใน 3 เขื่อน แต่ยังมีอีก 6 เขื่อนหลักที่น้ำแห้งไม่พอปลูกข้าว “แล้งในฝน”

การแก้ไขปัญหา “ยากมาก” เพราะการจะไปบังคับฝนให้ตกในจุดที่ต้องการน้ำก็ทำไม่ได้ แต่การ “บริหารจัดการน้ำ”

ทำได้ยากยิ่งกว่า จนอยากจะร้องเพลง “ดวงจันทร์กลางวัน” ออกมาเลยทีเดียว ถัดมาถึงข่าวการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยมุ่งใช้ความตกลงเปิดการค้าเสรี เป็นเครื่องมือให้เอกชนมีแต้มต่อ ไปขยายการค้าการลงทุน

ซึ่งแม้ว่าปีนี้ติดวิกฤตโควิด แต่ไทยก็มีกำหนดจะลงนามความตกลง 1 ฉบับในเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่อาเซียนและพันธมิตรอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะลงนามกัน โดยยกเว้น อินเดีย ที่เจรจาแต่ขอไม่ลงนาม

ขณะที่ความตกลงอีกฉบับ “CPTPP” (ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ซึ่งไทยจะกระโดดเกาะขบวนเจรจากับอีก 7 ประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา และเม็กซิโก ที่ลงนามให้สัตยาบันไปก่อนแล้ว แต่ดันมีความขัดแย้งจนต้องตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาข้อสรุปว่าควรจะร่วมหรือไม่ ผลสุดท้ายดูแล้ว คง “ไม่น่าจะได้ร่วม”

หากบอกว่าไทยมีการเจรจาแบบทวิภาคีไปแล้วกับ 5 ใน 7 ประเทศใน CPTPP คือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เวียดนาม แล้วจะเปิดเสรีเพิ่มอีกทำไมอีก หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคส่วนต่าง ๆ ในอนาคตก็ดูยุ่งยากเยอะแยะไปหมดทั้ง UPOV สิทธิบัตร แต่ RCEP สามารถเจรจาได้ทั้งที่กลุ่มประเทศคล้ายกันแถมมีเอฟทีเออาเซียน+1 กับสมาชิกอีก เข้าทำนองอยากเปิดเสรีแต่ไม่เปิดเสรีดีกว่า “เหตุผลที่ไม่มีเหตุผล”

หรือการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องเอสเอ็มอี ที่ยิ่งฟังก็ยิ่งนึกถึงเพลงความรู้สึกที่ไม่เคยรู้สึก เพราะรัฐก็รู้ว่าเอกชนเดือนร้อน ไฟเขียวงบประมาณกองทุนซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท แต่ปล่อยไปได้แค่ 1 แสนล้านบาท ที่เหลือ 4 แสนล้านบาทปล่อยไม่ได้

ซึ่งพอสอบถามไปที่เอสเอ็มอีก็บอกว่า ปัญหาจากกฎระเบียบที่แบงก์ชาติเลยกู้ไม่ได้ หากจะให้ใช้หลักเกณฑ์ปกติ ในห้วงเวลาที่ไม่ปกติก็จะไม่สามารถปล่อยกู้ได้ รัฐต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ซึ่งฟังดูแล้วเหตุผลก็ไม่น่ามีอะไรยาก แต่ไม่มีใครทำ เถียงกันมาเป็นเดือนด้วยประเด็นเดียว คือ “ต้องแก้แต่ไม่แก้” หรือ “การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่จะให้ซื้อสินค้าจากเอสเอ็มอี 30% ของมูลค่าโครงการ” แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่ง่าย

เพราะสอบถามเอสเอ็มอี ก็ยังไม่ได้ประโยชน์ เพราะเข้าไม่ถึง บ้างก็ว่าต้องรอการตั้งหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลจากหน่วยงานตั้งสังกัดว่าจะออกมาอย่างไร แล้วถึงจะเข้าไปแข่งเสนอราคา โดยรัฐจะยอมซื้อของราคาแพงจากปกติ 10% หากเป็นสินค้าที่ผลิตโดยเอสเอ็มอี

แต่ถ้าบริษัทใหญ่ส่งนอมินีที่เป็นบริษัทลูก ไซซ์เอสเอ็มอีไปร่วมชิงประมูลก็มีสิทธิ์เฉือนชนะได้ ฉะนั้น จะทำอย่างไรที่จะสกรีนให้เอสเอ็มอีได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ ผลักดันสินค้าเมดอินไทยแลนด์เข้าไปให้ได้ และอีก 3 เดือนจะสิ้นปีแล้ว ตอนนี้ คนที่เป็นเอสเอ็มอี

คงต้องร้องเพลงว่า ไกลแค่ไหนคือใกล้?

พอมาถึงประเด็นการเมือง หลายฝ่าย

บอกว่าการชุมนุมโดยสันติวิธีเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ที่ทำได้ พยายามไม่ใช้ความรุนแรง แต่ถามจริงวันนี้การจับตัวกุมตัวแกนนำ 21 คน ด้วย 8 ข้อกล่าวหา คืออะไร ก็ย้อนแย้งไปอีก

เผอิญที่ความรู้สึกนี้ไปสะกิดภาพจำเก่า ๆ…เลือกตั้งที่เหมือนไม่ได้เลือกเท่ากับเลือกไม่ได้ จะว่าไป เรื่องนี้พูดไม่ได้แต่ร้องฮัมเพลงได้ว่า “เป็นความเงียบที่ดังที่สุดในใจฉัน”