10 ข้อได้เปรียบ ม็อบเยาวชนปลดแอก

ม็อบ
REUTERS/Athit Perawongmetha
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย อมร พวงงาม

เจอบทความหนึ่งน่าสนใจมาก วิเคราะห์รูปแบบการชุมนุม พื้นฐาน แนวคิดของเยาวชนปลดแอกในช่วงเดือนที่ผ่านมาอย่างละเอียดอยากแชร์ให้หลายคนได้อ่าน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปแบบของการชุมนุมที่ผ่านมา มีความแตกต่างจากในอดีต โดยเฉพาะหากนำไปเทียบกับการชุมนุมของฝั่งเสื้อเหลืองหรือฝั่งเสื้อแดง

การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ “วิธีการ” ที่ต่างออกไปเท่านั้น แต่ทัศนคติและความคิดของคนที่มาร่วมชุมนุมก็เห็นได้ชัดว่า พวกเขามองโลกด้วยสายตาอีกแบบ

1) “ไม่ต้องมีแกนนำ” ปกติม็อบใด ๆ ก็ตาม เวลาที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการจะเอาชนะกลุ่มผู้ชุมนุม พวกเขาจะจัดการ “แกนนำ” ก่อน ถ้าแกนนำล้มเลิก หรือโดนจับเมื่อไหร่ คนอื่น ๆ ในกลุ่มประท้วงก็ไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไรต่อ แล้วก็จะลงเอยด้วยการล่มสลายของม็อบ แต่กับกรณีของเยาวชนปลดแอกนั้น ไม่มีตัวผู้นำในการชุมนุม

คนที่มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่ขึ้นพูดปราศรัยคือใคร แต่มาประท้วงเพื่ออุดมการณ์ การไม่มีแกนนำแบบนี้ ในมุมของรัฐบาลที่กุมอำนาจก็รับมือได้ยาก เพราะต่อให้จับตัวคนนั้นคนนี้ไป ก็มีคนใหม่ขึ้นมาพูดความรู้สึกได้เสมอ

2) การรวมตัวรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงฉับไว มีประสิทธิภาพ ในยุคก่อนถ้าจะมีการชุมนุมใหญ่ต้องมีการวางแผนกันเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ต้องกระจายข่าวออกไป จัดเตรียมขนส่งมวลชนเพื่อระดมคนเข้ามาให้มากที่สุด ซึ่งทำให้ฝั่งรัฐบาลมีเวลามากพอที่จะปรับแผนรับมือได้ทัน

แต่การชุมนุมคราวนี้ไม่ต้องใช้ทรัพยากรขนาดนั้น แค่เพียงมีเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์เท่านั้น ก็มากพอที่จะทำให้คนได้รับรู้แล้วว่าแผนการเป็นอย่างไร

3) คำขู่จากรัฐ ไร้ผล ส่วนใหญ่รัฐบาลจะขู่ว่าการกระทำความผิดจะมีประวัติติดตัว และมีผลกระทบต่อไปในอนาคต แต่ในยุคนี้ไม่มีใครสนใจ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คนที่มาร่วมชุมนุมในหลาย ๆ ม็อบก็ได้ดิบได้ดีเป็นรัฐมนตรี ไม่มีใครต้องมีประวัติติดตัวเลยสักคน ไม่เห็นจะเสียเครดิตอะไร ตรงกันข้ามกลับถูกเชิดชูมากมายหลังสิ้นสุดการชุมนุม

4) มีความคิดสร้างสรรค์ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในยุคนี้เป็นเด็กวัยรุ่น อยู่กับโลกออนไลน์ คุ้นเคยเป็นอย่างดีกับอินเทอร์เน็ต เราได้เห็นไวรัลมากมาย เช่น การชูป้ายกระดาษ หาคำง่าย ๆ สร้างเสียงหัวเราะ และกลายเป็นไวรัลได้ หรือภาพที่ผู้ชุมนุมช่วยกันกางร่ม เปิดแฟลช ให้น้อง ม.ต้นทำการบ้าน ก็เป็นภาพที่น่ารักที่ทำให้คนแชร์ต่อไม่ยาก

5) ผู้ชุมนุมคือกลุ่มวัยรุ่น มุมของภาครัฐ ยังเข้าใจว่าผู้ชุมนุมที่มาร่วมต้องมี “ท่อน้ำเลี้ยง” หรือมาเพราะถูกจ้าง ซึ่งเก่ามาก ผู้ชุมนุมจำนวนมาก คือเด็กนักเรียนมัธยมและเด็กมหาวิทยาลัย พวกเขาเหล่านี้อนาคตไปย่อมมีพาวเวอร์ และเป็นพลังสำคัญในการบริหารประเทศ

6) เด็กรุ่นใหม่มี Critical Thinking สิ่งที่ผู้ใหญ่พยายามปลูกฝังเด็ก ๆ คือทุกคนควรมี critical thinking เห็นอะไรมาอย่าเพิ่งเชื่อ แต่ต้องคิดทบทวนด้วยเหตุผล โดยไม่เอาอารมณ์มารวมด้วย คำถามตรง ๆ ว่าทำไมต้องจงรักภักดีต่อสถาบัน ผู้ใหญ่จำเป็นต้องตอบด้วยเหตุด้วยผล

7) ไม่เน้นความรุนแรง การชุมนุมในอดีต เราจะเห็นบังเกอร์ไม้ไผ่ บังเกอร์ยางรถยนต์ มีการ์ดเสื้อสีนั้นสีนี้ มาเดินรักษาความเรียบร้อย เหมือนหน่วยรบ แต่ในการชุมนุมครั้งนี้ไม่มี ดังนั้นผู้ชุมนุมเองจึงจำเป็นต้องเตือนกันและระมัดระวัง

8) บททดสอบสถาบันครอบครัว ไม่เคยมีการชุมนุมครั้งไหนที่มีความขัดแย้งระหว่างวัยมากขนาดนี้ ในครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่อาจเห็นอย่างหนึ่ง ส่วนลูกวัยรุ่นอาจคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งนี่จะเป็นบททดสอบถึงคำกล่าวที่เราเคยเรียนมาตลอดว่า “สถาบันครอบครัว คือสถาบันที่เล็กที่สุด แต่มีความสำคัญมากที่สุด” มันเป็นเรื่องจริงหรือไม่

9) อินเทอร์เน็ตมีข้อดี แต่ต้องระวัง สื่อหลักที่กระจายข่าวเรื่องการชุมนุมคือทวิตเตอร์ ซึ่งข้อดีของมันคือ ทุกคนสามารถทวีตอะไรก็ได้ วิจารณ์อะไรก็ได้ ลงภาพลงวิดีโอโดยไม่มีขีดจำกัด การรีทวีตต่อทันที โดยยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจริงหรือไม่จริง ทำให้ทุกอย่างสับสนวุ่นวายเข้าไปใหญ่ อย่าลืมเช็กให้ชัวร์ก่อนแชร์

10) สื่อต้องเน้นคุณภาพ สื่อมวลชนหลายสำนักยังให้ความสำคัญกับการชุมนุมแค่ตัวแกนนำ เช่น “อนุมัติหมายจับ”, “ไม่ให้ประกันตัว”, “ศาลสั่งฝากขังแกนนำ” ลืมไปว่า “พวกเขาออกมาชุมนุมทำไม ?” การเสนอข่าวในทุกแง่มุม

ครบทุกมิติ คือความท้าทายของสื่อมวลชน