‘ความจริง-ความหวัง’

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
อำนาจ ประชาชาติฯ

ข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่มีการแถลงผลการพัฒนาที่ออกมาในเชิงบวก ถือได้ว่าเป็นการ “จุดประกายความหวัง” ให้แก่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้

แม้จะยังใช้งานจริงไม่ได้ แต่ก็เป็น “จุดเริ่มต้น”

ซึ่งเมื่อมี “จุดเริ่มต้น” ต่อไป ก็มีโอกาสที่จะเห็น “จุดสิ้นสุด” นั่นก็คือ สามารถควบคุม “ไวรัสวายร้าย” นี้ได้นั่นเอง

ช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นตลาดหุ้นทั่วโลกตอบรับข่าวดีนี้กันอย่างคึกคัก

ตลาดหุ้นไทยก็เช่นเดียวกัน หลังจากรับข่าวดีในอีกซีกโลกหนึ่งตอนค่ำวันที่ 9 พฤศจิกายน พอเปิดตลาดซื้อขายเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน ก็บวกทันที 45.02 จุด โดยดัชนีขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1,331 จุด และตกเย็นปิดตลาดที่ 1,341.24 จุด สรุปภาพรวมบวกเพิ่มขึ้นถึง 55.36 จุดในวันเดียว

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยคงจะพึงพอใจอยู่แค่นี้ไม่ได้ เพราะหากดูข้อมูลของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดพบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงถึง 24.4% แย่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากตลาดหุ้นสิงคโปร์ ที่ปรับตัวลง 24.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ถามว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น…

มีข้อมูลที่น่าสนใจจากบทวิเคราะห์ของ “KKP Research” โดยกลุ่มการเงิน “เกียรตินาคินภัทร” ที่ชี้ว่า บริษัทส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (old economy) ที่อาศัย “อำนาจตลาด” เป็นจุดแข็ง และยังมีสัดส่วนบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและสารสนเทศไม่ถึง 3% ของมูลค่าตลาด จึงฟื้นตัวหลังโควิดช้ากว่าตลาดต่างประเทศที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน

ซึ่งเห็นได้จากการฟื้นตัวของการส่งออกหลังโควิด ที่สินค้าเทคโนโลยีเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมทั้งเวียดนาม เริ่มเห็นการส่งออกกลับมาขยายตัวแล้วตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่การส่งออกของไทยยังคงหดตัวเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน

โดยอัตราการเติบโตของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับเลข 2 หลัก ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 5% ตลอดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม มีการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตโดยเฉลี่ยกว่า 20% ต่อปี ตลอดช่วง
2 ทศวรรษ

ที่สำคัญคือ สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (high-tech manufacturing products) ของไทย ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ราว 23%

ส่วนเวียดนามแซงหน้าไปไกลแล้ว ปัจจุบันอยู่ที่ 40% ของการส่งออกทั้งหมด

นับเป็นเรื่องน่ากังวล ซึ่งเรื่องนี้ภาคธุรกิจและผู้มีอำนาจต้องอยู่กับความจริง โดยต้องเร่งช่วยกันขบคิดหาทางแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

เพราะทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องต้อง “คิดใหม่-ทำใหม่” ทั้งสิ้น

โดยทาง “KKP Research” เสนอแนะว่า หนึ่งในทางออกเพื่อยกระดับเทคโนโลยีและเพิ่มผลิตภาพของเศรษฐกิจไทย คือ การลดอำนาจตลาดหรือทลายอำนาจผูกขาดของผู้เล่นรายใหญ่ และผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันด้านนวัตกรรมในวงกว้าง

เพราะพบว่า 3 อุปสรรคสำคัญต่อการยกระดับทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทย คือ การขาด (1) Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านความรู้และบุคลากร (2) Investment หรือการลงทุน และ (3) Incentives หรือระบบแรงจูงใจตามกลไกตลาด

สำหรับข่าวดีเรื่องวัคซีน อาจจะเป็น “sentiment เชิงบวก” ที่ทำให้บรรยากาศต่าง ๆ ดูดีขึ้น

เพราะทำให้ผู้คนมีความหวัง… หวังว่า จะสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้เหมือนปกติ ไม่ต้องกังวลว่าจะติดไวรัส ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกกักตัว

ธุรกิจก็หวังว่า เมื่อสามารถเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยได้ ก็จะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ทำให้มีรายได้เข้ามา มีเงินไปชำระหนี้ ไม่ต้องเลิกจ้าง ไม่ต้องปิดกิจการ ทรัพย์สินไม่ต้องหลุดมือไปอยู่กับคนอื่น

หวังไปเถอะ… เพราะทุกชีวิตมีสิทธิ์หวัง แต่ก็ต้องอยู่กับ “ความจริง” ที่ยังต้องเผชิญตรงหน้าด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เจอ “คุณผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในงานสัมมนาซีเอสอาร์ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ก็ได้ให้มุมมองเรื่องนี้ว่า ถึงแม้จะมีข่าวเรื่องวัคซีนต้านไวรัสโควิดออกมาแล้ว แต่กว่าวัคซีนจะมาถึงคนไทยต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างบรรยากาศต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ทว่าในแง่การวางแผนดำเนินงานในระยะข้างหน้าก็ต้อง “เผื่อ” ไว้รับมือวิกฤตที่ยังมีโอกาสลากยาวต่อไปได้

โดยต้องเตรียมตัวให้พร้อม และต้องตระหนักว่า…

ถึงแม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็อาจจะไม่ได้กลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป