วิกฤตคอร์รัปชั่น…มาถึงจุดนี้ได้ยังไง

ทุจริต-คอร์รัปชั่น
บทบรรณาธิการ

วันต่อต้านการคอร์รัปชั่นสากล 9 ธ.ค. มาถึงอีกครั้ง นอกจากหน่วยงานรัฐจะพร้อมใจจัดกิจกรรมต่อต้านคอร์รัปชั่นพร้อมเพรียงกันแล้ว เอกชนจำนวนไม่น้อยก็ให้ความสำคัญกับวัน International Anti-Corruption Day ขององค์การสหประชาชาติ

สโลแกนสวยหรู “โปร่งใสไร้ทุจริต” (zero corruption)“ความอดทนต่อคอร์รัปชั่นต้องเท่ากับศูนย์” (zero tolerance) ถ้าถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ใช่แค่คำขวัญ หรือแผนในแผ่นกระดาษ การทุจริตประพฤติมิชอบทั้งระบบน่าจะลดน้อยลงทุกปี

แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะยิ่งรณรงค์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งลุกลามเป็นมะเร็งร้าย แม้แต่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังยอมรับว่า สถานการณ์คอร์รัปชั่นในประเทศไทยขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต

ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตคอร์รัปชั่นมากถึง 10,382 เรื่อง เป็นการกล่าวหาร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับโครงการภาครัฐคิดเป็นวงเงินงบประมาณรวม 238,209 ล้านบาท หรือเกือบครึ่งหนึ่งของงบฯจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนใหม่ของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละปีที่มีปัญหา

ในจำนวนดังกล่าวเป็นการกล่าวหาทุจริตร้ายแรง หรือเกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่ ป.ป.ช.รับไว้สอบสวน 3,285 เรื่อง คิดเป็นยอดวงเงินงบประมาณ 236,240 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2564 ยิ่งน่าตกใจ เพราะแค่ 2 เดือนแรก ป.ป.ช.มีข้อร้องเรียนที่อยู่ระหว่างตรวจสอบสูงถึง 9,416 เรื่องไต่สวน 3,320 เรื่อง

ย้อนไปต้นปีที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI : Transparency International) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ปี 2562 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับ 101 จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก เป็นอันดับ 19 จาก 31 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก อันดับ 6 จาก 10 ประเทศในอาเซียน

ตอกย้ำให้เห็นว่ามาตรการทางกฎหมาย การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกแก้ปัญหาการทุจริตที่ผ่านมาไม่มีประสิทธิภาพ ก่อนวิกฤตคอร์รัปชั่นจะเลวร้ายกว่านี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยกเครื่องแก้โกง ปฏิรูปกติกา แนวปฏิบัติ และการบังคับใช้กฎหมาย อุดช่องโหว่ รูรั่ว เอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้องเร่งด่วน

ฟื้นศรัทธาความเชื่อมั่น โดยดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอย่างเฉียบขาดและไม่เลือกปฏิบัติ หยุดวัฏจักรโกงกิน หยุดความเสียหายประเทศและเศรษฐกิจ รุ่นลูกหลานจะได้ไม่ตั้งคำถามว่า “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”