ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานใหม่ ในบริบท ‘New Normal’ การจ้างงานประจำแบบรายชั่วโมง (1)

คอลัมน์ นอกรอบ
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ 
ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

 

จะมีสักกี่คนที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจประเทศจนถึงวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ที่หลายสำนักเห็นตรงกันว่าเป็น “วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบ 100 ปี” สถานประกอบกิจการจำนวนมากต้องหยุดกิจการชั่วคราวบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อพยุงธุรกิจไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานหรือการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น

เป็นที่มาของเหตุผลที่รัฐบาลหลายประเทศต้องยอมทุ่มหมดหน้าตักเท่าไรเท่ากัน เพื่อลดการว่างงานจนถึงการตกงานของประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะการว่างงานย่อมนำมาซึ่งปัญหาสังคมอีกนานัปการ

ทำไมการจ้างงานรายชั่วโมงถึงเหมาะกับธุรกิจภาคการค้าและบริการ

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ภาคบริการมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะถือเป็นแหล่งจ้างงานและแหล่งรายได้หลักของประเทศ ในประเทศไทยภาคบริการมีบทบาทอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นจาก 50% ในปี 2005 เป็น 60% ในปี 2018 จำนวนแรงงานในภาคบริการในปี 2018 มีมากถึง 20 ล้านคน หรือประมาณ 52% ของผู้มีงานทำทั้งหมดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดรับกับความสำคัญที่มากขึ้น

ในบริบทโลกที่เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เติบโตและร่ำรวยขึ้น ภาคบริการก็มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มประเทศรายได้สูง เช่น อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ภาคบริการ จะมีสัดส่วนโตเฉลี่ยสูงถึง 75% ของ GDP (ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)

เมื่อพิจารณากระบวนการทำงานในภาคการค้าและบริการก็แตกต่างจากภาคอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง กระบวนการการผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเส้นตรง เริ่มจากการผลิตซึ่งเครื่องจักรต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถจะเปิด ๆ ปิด ๆ ได้ตามที่ต้องการ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐาน อีกทั้งการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเป็นระบบปิด ไม่ได้สัมผัสกับ demand หรือผู้บริโภคโดยตรง แรงงานจึงสัมพันธ์กับกำลังการผลิตที่เป็นลักษณะเส้นตรง การจ้างงานจึงควรต้องสัมพันธ์กับการผลิตซึ่งเป็นลักษณะเต็มวัน

แต่ธุรกรรมภาคการค้าและการบริการ ไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างภาคอุตสาหกรรม เนื่องจาก demand หรือผู้บริโภคมีลักษณะขึ้นลงตามความต้องการผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกสินค้าเปิดให้บริการ 10.00-22.00 น. ในช่วง 10.00-12.00 น. ผู้บริโภคก็จะมาจับจ่ายน้อย แต่จะเริ่มคึกคักช่วง 12.00-13.30 น. จากนั้นผู้บริโภคก็จะน้อยลงและจะกลับมาคึกคักอีกครั้งช่วงเวลา 18.00-20.00 น. ภัตตาคารร้านอาหารซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกบริการ ก็จะคึกคักจนล้นในช่วง 12.00-14.00 น. แล้วจาก 14.00-18.00 น. ก็จะค่อนข้างว่าง และจะกลับพีกไทม์อีกครั้งเวลา 18.00-21.00 น. ร้านกาแฟ ก็จะพีกช่วง 07.00-09.00 น. และ 12.00-14.00 น. หลังจากนั้นก็จะว่างกันส่วนใหญ่

การดำเนินงานของภาคการค้าและภาคบริการจึงมีลักษณะเป็นลูกคลื่นขึ้นลงตามดีมานด์โดยตรง การที่ธุรกิจภาคการค้าและบริการสามารถจ้างงานแรงงานทั่วไปเป็นรายชั่วโมง เพื่อเพิ่มการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วนหรือช่วงเทศกาลต่าง ๆ ก็จะส่งผลให้การบริการเกิดประสิทธิภาพ ผลิตภาพ productivity ของพนักงานจะสูงตามมาตรฐานการบริการ (อาจปรับการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วน และช่วงเทศกาลต่าง ๆ ให้มีอัตราค่าจ้างที่มีความหลากหลายและจูงใจแก่ลูกจ้าง และลดภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างในช่วงที่ไม่มีความจำเป็นในการจ้างงานในช่วงปกติ)

ยกตัวอย่าง ในอนาคตในประเทศไทยการจ้างรายชั่วโมง อาจมีอัตราค่าจ้างสูงกว่าการจ้างในอัตราค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันก็เป็นไปได้ในงานที่มีทักษะการทำงานที่สูง

การจ้างงานรายชั่วโมงจึงมีข้อดีคือเป็นการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นสูงและสามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อาจกำหนดเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่อง เช่น ธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจนำร่อง อาจจะเป็นระยะเริ่มต้นทดลอง โดยกำหนดกรอบระยะเวลาทดลองปฏิบัติ เช่น 1 ปี และประเมินผล มีหน่วยงานในการวิจัยและสำรวจสรุปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมาธุรกิจภาคการค้าและบริการมีการจ้างรายชั่วโมงเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุตามกฎหมายที่กำหนดไว้ แต่ก็ไม่พอเพียงแลความยืดหยุ่นชั่วโมงค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ วัตถุประสงค์การจ้างนักศึกษา และผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในเรื่องทักษะการทำงาน ความรู้ และความชำนาญในงานที่ปฏิบัติ โดยเฉพาะงานที่ต้องการเน้นในเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน

การจ้างงานเป็นรายชั่วโมงเป็นการทั่วไปนั้น ถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งและสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี เพราะงานบางอย่างไม่จำเป็นต้องทำเต็มเวลา หรือทำอยู่ในสำนักงาน ทำให้ลูกจ้างมีทางเลือกในการหารายได้มากขึ้น และส่งเสริมการมีงานทำได้หลากหลายอาชีพมากขึ้น ไม่มีข้อจำกัดของสถานที่และเวลาในการปฏิบัติงานประเภทของการจ้างงาน

ในวงการ HR ทรัพยากรบุคคล จะแบ่งประเภทการจ้างงานออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ การจ้างงานรายเดือน, การจ้างงานรายวัน, contract

1.การจ้างงานรายเดือน full time เป็นงานประจำประเภทเต็มเวลาที่ต้องทำงานอย่างน้อย 38 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือ 76 ชั่วโมงต่อสองสัปดาห์ติดต่อกัน หรือ 114 ชั่วโมงต่อสามสัปดาห์ติดต่อกัน หรือ 152 ชั่วโมงต่อสี่สัปดาห์ติดต่อกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่เกิน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือทำงาน 6 วันในสัปดาห์แรก และไม่เกิน 4 วันในสัปดาห์ถัดไป หากเกินกว่านี้ ชั่วโมงทำงานที่เกินจะต้องคิดในอัตราล่วงเวลา สวัสดิการในการทำงานแบบ full time นั้น พนักงานมีสิทธิลาป่วย ลาหยุดประจำปี ลาพักร้อน หรือลาหยุดยาวเนื่องจากทำงานมาเกินสิบปี โดยที่ยังได้รับค่าจ้างอยู่ และมีสิทธิได้เงินชดเชยหากถูกให้ออกจากงาน

2.การจ้างงานรายวัน หรือ part time งาน part time จะเน้นทำเป็นกะ เป็นรายชั่วโมง หรือทำในระยะเวลาที่น้อยกว่า โดยปกติแล้วจะทำได้น้อยสุด 4 ชั่วโมง มากสุด 8 ชั่วโมงต่อวัน โดยส่วนใหญ่มักเป็นการจ้างมาเพื่อช่วยพนักงานประจำ หรือมาแทนพนักงานคนเก่าชั่วคราว แต่ในแง่ปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้จ่ายเป็นรายวันตามพื้นที่ที่กำหนด อีกทั้งยังเขียนไว้ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้างว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวันจะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ดังนั้น งาน part time แบบนี้จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อย่างนักเรียน นักศึกษา ที่ภาครัฐยืดหยุ่นให้จ้างเป็น part time ได้

สวัสดิการสำหรับนักเรียน นักศึกษา part time จะไม่ได้กำหนดไว้แบบของลูกจ้างประจำ ขึ้นอยู่กับที่มีการตกลงไว้กับทางนายจ้าง โดยทั่วไปจะไม่ได้รับสวัสดิการ เช่น ลาพักร้อนประจำปี แต่จะมีสิทธิได้ค่าจ้างในอัตราวันหยุดหากวันที่ทำงานตรงกับวันหยุด เช่น ได้ค่าแรงสองเท่าของค่าจ้างหากต้องทำงานในวันอาทิตย์ และสองเท่าครึ่งในวันหยุดราชการ เป็นต้น

3.contract สัญญาจ้างเหมา เป็นการจ้างงานที่มีการระบุระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างงาน ซึ่งปกติแล้วจะเป็นการจ้างงานในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 1 เดือน 3 เดือน หรือ 1 ปี เป็นต้น การจ้างงานแบบสัญญาจ้างเหมา จะมีความแตกต่างกับการจ้างงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราว เพราะเป็นแบบรับจ้างทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน โดยค่าตอบแทนจะเป็นไปตามที่ผู้จ้างตกลงกับผู้รับเหมา ส่วนการจ่ายค่าตอบแทนก็จะอิงจากผลงาน ปริมาณของงานที่สำเร็จ หรือจ่ายตามสัดส่วนยอดขายและสัญญาที่ทำไว้ แต่โดยทั่วไปจะไม่ได้สวัสดิการ เช่น ลาป่วย อัตราค่าจ้างสำหรับวันหยุด และลาหยุดประจำปี

การจ้างงานรายชั่วโมงเป็นอัตราเพิ่ม-ไม่ได้ทดแทนแรงงานเดิม

ในปัจจุบันนอกจากการจ้างงานแบบรายเดือนและรายวัน ยังมีการจ่ายค่าจ้างตามผลงานหรือชิ้นงานอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การจ้างงานประจำรายชั่วโมง part time กับการจ้างงานทั่วไป จะใช้ได้เฉพาะในกลุ่มนักศึกษาที่ทำงานแบบอาชีพเสริม (part time) แบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ไม่สามารถปฏิบัติได้กับแรงงานทั่วไป เนื่องจากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำกำหนดให้จ่ายเป็นรายวันตามพื้นที่ที่กำหนด อีกทั้งยังเขียนไว้ในประกาศคณะกรรมการค่าจ้างว่า ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติในแต่ละวัน จะต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำรายวัน ซึ่งหมายถึงหากการจ้างงานชั่วคราว 4 ชั่วโมง นายจ้างก็ต้องจ่ายเต็มแปดชั่วโมงนั่นเอง

“แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม การที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าวันละแปดชั่วโมงสำหรับงานทั่วไป หรือเจ็ดชั่วโมงสำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ลูกจ้างทุกประเภทก็ต้องได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในหนึ่งวัน จะคำนวณโดยเฉลี่ยจ่ายเป็นรายชั่วโมงมิได้ เพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างกำหนด”

“ซึ่งเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541”

การจ้างงานประจำรายชั่วโมง เหมาะกับการจ้างงานในภาคการค้าและบริการ แต่ไม่เห็นด้วยกับการนำระบบนี้มาใช้เต็มที่ในภาคอุตสาหกรรม

การจ้างงานสำหรับภาคการค้าสินค้าและการค้าบริการเป็นอัตราการจ้างงานเพิ่ม มิได้ไปทดแทนการจ้างงานประจำแต่อย่างใด เพื่อสอดรับการให้บริการช่วงพีกของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด

ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานใหม่ในบริบท “New Normal” ฉบับหน้าจะว่ากันด้วยเรื่อง การจ้างงานประจำรายชั่วโมงจะได้สวัสดิการอะไร-อย่างไร