ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานใหม่ ในบริบท ‘New Normal’ การจ้างงานประจำแบบรายชั่วโมง (2)

คอลัมน์ นอกรอบ
ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ 
ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

หลังกล่าวถึงที่มาของแนวคิดการจ้างงานรายชั่วโมง จากภูมิทัศน์ตลาดแรงงานใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ตอนที่ 2 ในฉบับนี้เป็นบทต่อเนื่องเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็น ตลอดจนสิทธิ สวัสดิการของลูกจ้างจากที่ตลาดแรงงานปรับเปลี่ยนบริบท

การจ้างงานประจำรายชั่วโมงจะได้สวัสดิการอะไร อย่างไร

หากกำหนดการจ้างงานประจำเป็นรายชั่วโมง ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับการจ้างงานรายเดือนแต่อย่างไร เพียงแต่การคำนวณการจ้างงานเป็นวันกับเป็นรายชั่วโมง อาทิ เรื่องสิทธิประโยชน์วันหยุด วันลาโดยได้รับค่าจ้าง-ตอบว่า ควรได้ โดยคิดตามสัดส่วนเช่นเดียวกับการจ้างงานรายเดือน (เป็นความร่วมมือของภาครัฐ และเอกชนที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

และสามารถส่งเสริมการจ้างงานให้มีความหลากหลายและมีทางเลือกให้กับผู้ประกอบการและมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับลูกจ้าง สามารถกำหนดชั่วโมงการทำงาน และสถานที่ทำงานที่สอดคล้องกับลูกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีนายจ้างเดียวในการจ้างงาน ส่วนสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ สามารถออกแบบให้เหมาะสม โดยหักจากค่าจ้างเพื่อนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกแบบสวัสดิการให้มีความสอดคล้องกับสิทธิ และสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะมีการร่วมกันออกแบบ ดังเช่นที่ผ่านมา เช่น ใน ม.39 ม.40 เป็นต้น

1) สิทธิประโยชน์วันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดงานประจำปี (13-18 วันต่อปี) วันลาป่วยปีละไม่เกินสามสิบวัน วันลาเพื่อรับราชการทหารของลูกจ้างชายปีหนึ่งไม่เกินหกสิบวัน ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกินเก้าสิบวัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหา (อาจดูกรอบระยะเวลาการเป็นลูกจ้างประจำรายชั่วโมงเป็นหลัก อาจใช้เกณฑ์จำนวนชั่วโมงการทำงานสะสมในการออกแบบสวัสดิการดังกล่าวต่อนายจ้าง)

2) เรื่องประกันสังคม มาตรา 33 หรือมาตรา 40-น่าจะพอทำได้ โดยดูกรณีของอเมริกาลูกจ้างรายชั่วโมงจะต้องทำประกันสังคมโดยหักภาษี (payroll tax) ส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 6.2) จากค่าจ้างของลูกจ้างและอีกส่วนหนึ่ง (ร้อยละ 6.2) ให้นายจ้างจ่าย บวกกับค่าประกันรักษาพยาบาล (medicare tax) อีกส่วนหนึ่งโดยหักจากค่าจ้าง (ร้อยละ 1.45) และนายจ้างออกในอัตราเท่า ๆ กัน

3) การประกันสังคม ตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม (กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร บำเหน็จบำนาญชราภาพ และว่างงาน) ก็ไม่น่าจะยากหากกระทรวงแรงงานอยากเห็นการจ้างงานเพิ่ม

4) ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง ตามมาตรา 75 และมาตรา 118 และ 118/1 ของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ถ้าประกันสังคมสามารถดำเนินการได้ ค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง

5) กองทุนเงินทดแทน ตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537 และ พ.ศ. 2561 กรณีเจ็บป่วย ประสบอันตราย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือสูญหาย อันเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้างหรือตามคำสั่งนายจ้าง

ภูมิทัศน์ตลาดแรงงานปรับเปลี่ยนบนบริบท “New Normal”

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก แต่การที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจวิกฤตครั้งนี้ หัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทยคือการจ้างงาน แต่เมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหมือนเดิม รูปแบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยนไปมาก และตลาดแรงงานจะก่อให้เกิดวิถี new normal ที่บริบทของการดำเนินกิจการจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การทำงานเต็มเวลา จะกลายเป็นงานฟรีแลนซ์-พาร์ตไทม์ หรือทำงานที่บ้านมากขึ้น และมีค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง

ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน (รายละเอียดในบทความในกรอบ : การจับชีพจรและวิเคราะห์ตลาดแรงงานไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 รายงานนโยบายการเงิน กันยายน 2563) ในไตรมาส 2 มีจำนวนสูงถึง 5.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 3.4 ล้านคนจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งการที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย

มาตรการหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและเยียวยาแก่กลุ่มแรงงานที่อยู่ในภาวะเสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน การจ้างงานประจำรายชั่วโมงก็จะเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา นายจ้างก็จะมีความยืดหยุ่นในการจ้างงาน ลูกจ้างก็สามารถมีรายได้ที่สองเพื่อชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป จากข้อมูลของจ๊อบไทย (JobThai) ผู้ให้บริการหางาน สมัครงาน ออนไลน์ อันดับ 1 ของประเทศไทย เดือนตุลาคม เปิดเผยว่า ธุรกิจมีความต้องการแรงงานมากที่สุด ธุรกิจบริการอาหาร-เครื่องดื่ม 58,724 อัตรา ธุรกิจค้าปลีก 37,482 อัตรา เพียงแค่สองธุรกิจมีความต้องการแรงงานเกือบแสนอัตราในระยะสั้น ภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการคาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตราในระยะยาว

เมื่อภูมิทัศน์แรงงานปรับเปลี่ยนเข้าสู่วิถี new normal และผลกระทบกับ technology disruption เต็มตัว อัตราการจ้างงานรายชั่วโมงจะสามารถรองรับได้ถึง 200,000 อัตรา

บทสรุปการเร่งรัดพิจารณาอัตราการจ้างงานรายชั่วโมง

สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากการ disruption จากเทคโนโลยี ทำให้สถานประกอบกิจการจำนวนมาก ได้รับผลกระทบจนต้องหยุดกิจการชั่วคราวบางส่วนหรือทั้งหมด เพื่อพยุงธุรกิจไว้ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ ประกอบกับในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานหรือการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้น

จำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงแรงงานจะต้องมีนโยบายในการส่งเสริมและคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาให้ได้รับค้าจ่างที่เหมาะสมเพื่อรองรับความปกติใหม่ในด้านการจ้างงาน และได้พิจารณาออกประกาศอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่มีการทำงานไม่เต็มเวลาและเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีการจ้างงานรายชั่วโมง