ปลดล็อกซอฟต์โลน ทางรอด SMEs

เงิน
บทบรรณาธิการ

การปลดล็อกกฎหมาย แก้ปัญหาการปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ภายใต้มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งเข้มงวด ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึง กำลังถูกผลักดันให้มีผลในทางปฏิบัติ

ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎรได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นพิจารณา และเตรียมขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กมธ.เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 โดยเร็วที่สุด

เป้าหมายหลักคือการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขหลักเกณฑ์ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีอำนาจให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเพื่อนำไปปล่อยกู้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ในลักษณะผ่อนปรนและเปิดกว้างมากขึ้น อาทิ แก้คำนิยามของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับเงื่อนไขการให้กู้ การคิดดอกเบี้ย การชดเชยความเสียหายจากการให้กู้ของสถาบันการเงิน ฯลฯ

เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนมีข้อติดขัดหลายเรื่อง เสียงสะท้อนจากธุรกิจเอสเอ็มอี และสถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้มีออกมาเป็นระยะ ๆ เกือบหนึ่งปีเต็มหลังกฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ 19 เม.ย. 2563 ณ วันที่ 11 ม.ค. 2564 โครงการสินเชื่อซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท มียอดปล่อยกู้เพียง 1.23 แสนล้านบาท ผู้ได้รับสินเชื่อซอฟต์โลน 7.39 หมื่นรายเท่านั้น

ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลทราบดีถึงข้อจำกัดของกฎหมาย แต่เกรงว่าถ้าออกหน้าเสนอแก้ พ.ร.ก.เองจะกลายเป็นประเด็นการเมือง การพลิกเกมอาศัยตัวแทนพรรครัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติน่าจะเหมาะสมลงตัวกว่า จากนั้นให้ กมธ.เสนอรัฐบาลผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยออกเป็น พ.ร.ก.จะได้รวดเร็วทันการ

เป็นความหวัง ทางเลือก และทางรอดของเอสเอ็มอีที่กำลังวิกฤต โดยเฉพาะเอสเอ็มอีภาคท่องเที่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนเงื่อนไข ผ่อนคลายกฎในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน ไม่ใช่สูตรสำเร็จจะแก้วิกฤตหนี้แบบพลิกฝ่ามือได้

เอสเอ็มอีจึงต้องช่วยเหลือตัวเอง อาจต้องยอมเฉือนเนื้อรักษาชีวิต พร้อมยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่นเดียวกับแบงก์เจ้าหนี้ที่ต้องยอมสูญรายได้ลดภาระลูกหนี้ เพราะภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ทางเลือก ทางรอดมีจำกัด