ธุรกิจข้าวไทย ปี 2021 จับตาความผันผวนด้านราคา

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

แม้ว่าการระบาดของ COVID-19 จะกระทบภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง แต่ภาพรวมสินค้าเกษตรกลุ่มอาหาร เช่น ไก่สด และผลไม้ ยังได้รับอานิสงส์เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็น อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกข้าวในปี 2020 กลับหดตัว 11.23% YOY ซึ่งน่าแปลกใจ เพราะคำสั่งซื้อข้าวได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากในช่วงต้นปี 2020 ที่ COVID-19 เริ่มระบาด ทำให้ราคาปรับขึ้นตาม

แต่ช่วงครึ่งปีหลังราคาข้าวกลับลดลงอย่างรวดเร็ว โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในเดือนพฤศจิกายน 2020 ลดลงมาอยู่ที่ 11,428 บาท/ตัน หรือลดลง 26.3% เมื่อเทียบกับราคาสูงสุดของปี 2020 เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกเจ้าลดลงมาอยู่ที่ 8,564 บาท/ตัน หรือลดลง 15.3% เมื่อเทียบกับราคาสูงสุดของปี 2020

คำถามที่น่าสนใจ คือ เกิดอะไรขึ้นกับราคาข้าวไทยในปีที่ผ่านมา ? และท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ทิศทางธุรกิจข้าวไทยจะเป็นอย่างไร ?

ราคาข้าวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2020 “ไม่ไปต่อ” ทั้ง ๆ ที่ยังมีการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคของประเทศคู่ค้าลดลง ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการระบาดของ COVID-19 คู่ค้าข้าวของไทยเร่งนำเข้าข้าวเพื่อกักตุน เนื่องจากกังวลว่าข้าวจะไม่เพียงพอกับการบริโภค

ขณะที่ปัญหาภัยแล้งในประเทศทำให้ผลผลิตมีจำกัด อีกทั้งในเดือนเมษายน 2020 ประเทศคู่แข่งข้าวไทยอย่างเวียดนามประกาศงดส่งออกข้าวชั่วคราว ยิ่งนำไปสู่คำสั่งซื้อในลักษณะ panic buy หรือหมายถึงการซื้อเพราะตื่นตระหนก

แต่ในช่วงครึ่งปีหลังประเทศคู่แข่งผู้ส่งออกข้าวไทยเริ่มกลับมาส่งออกได้ตามปกติ อีกทั้งประเทศคู่ค้าเริ่มมั่นใจว่ามีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค ทำให้เริ่มชะลอคำสั่งซื้อ ในขณะที่โรงสีหลายแห่งเริ่มระบายสต๊อกข้าวออกสู่ตลาด จึงเป็นปัจจัยกดดันราคา

นอกจากนี้ ราคาข้าวไทยปี 2020 มีความผันผวนมากกว่าปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก แม้ในปี 2020 ราคาข้าวจะเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยด้านฤดูกาล ซึ่งปกติราคาข้าวจะลดลงในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูกาลผลิตข้าวนาปีที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (ผลผลิตข้าวนาปีคิดเป็นราว 80% ของผลผลิตข้าวรวมทั้งปี) แต่กลับพบว่าในปี 2020 ราคาข้าวไทยมีความผันผวนมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 2-4 เท่า

โดยพบว่า ราคาข้าวไทยมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ของราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยในปี 2020 อยู่ที่ 476 มากกว่าปี 2019 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 230 เช่นเดียวกับค่า S.D. ของราคาข้าวเปลือกเจ้า ซึ่งอยู่ที่ 306 มากกว่าปี 2019 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 69

ผู้เขียนมองว่าในระยะสั้นราคาข้าวมีโอกาสผันผวนต่อได้อีก เพิ่มความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะขาดทุน โดยจากข้อมูลของสมาคมโรงสีข้าวไทยเปิดเผยว่า ราคาข้าวที่ผันผวนและมีทิศทางลดลงในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงสีต้องระบายข้าวออกมาเพื่อลดภาวะขาดทุนจากการซื้อข้าวเปลือกมาแพง ทำให้ต้องยอมขาดทุนไป 30-40%

ทั้งนี้ เหตุการณ์ความผันผวนของราคาข้าวดังกล่าวเคยเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงปี 2016-2017 ซึ่งเป็นปีที่ไทยประสบปัญหาภัยแล้ง

โดยในตอนนั้น ธุรกิจโรงสีรวมถึงผู้ส่งออกข้าวต่างประสบปัญหาเก็งราคาขายข้าวสารผิดพลาดจนทำให้ขาดทุนสต๊อก ขณะที่ในปี 2021 สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่สองของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อาจนำไปสู่ความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นได้อีก

ซึ่งนั่นก็จะเป็นปัจจัยให้ราคาข้าวกลับมาผันผวนอีกครั้ง ทำให้ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการยังมีความเสี่ยจากการขาดทุนสต๊อก และส่งผลต่อเนื่องให้โรงสีประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกข้าวยังประสบปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่แพงขึ้น และการส่งมอบสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด โดยจากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยพบว่า ปริมาณเรือขนส่งสินค้าลดลงกว่า 20% จากปกติ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งออก ทำให้ต้นทุนค่าระวางเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการะบาดของ COVID-19 เช่น จากเดิมค่าระวางในการขนสินค้าจากประเทศไทยไปสหรัฐอยู่ที่ 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตู้ ปรับขึ้นเป็น 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตู้ และคาดว่าปัญหานี้จะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564

สำหรับทิศทางธุรกิจข้าวในปี 2021 ผู้เขียนมองว่า ภาพรวมราคาข้าวทั้งปี 2021 จะยังต่ำกว่าในปี 2020 เนื่องจากอุปทานข้าวที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อีกทั้งตลาดส่งออกข้าวยังต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง โดยเฉพาะคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพใกล้เคียงและราคาถูกกว่า ประกอบกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า จึงเป็นปัจจัยกดดันราคาข้าวในประเทศให้ปรับตัวลดลง

โดยคาดว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 9,000-9,500 บาท/ตัน หรือลดลง 1-5% YOY ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะอยู่ที่ 7,500-8,000 บาท/ตัน หรือลดลง 15-18% YOY ขณะที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 12,100-12,500 บาท/ตัน หรือลดลง 15-18% YOY ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าราคาจะอยู่ที่ประมาณ 11,600-12,100 บาท/ตัน หรือลดลง 7-10% YOY

ส่วนในระยะยาว ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรในประเทศทดแทนการนำเข้า โดยในปัจจุบันการระบาด COVID-19 ทำให้หลายประเทศมีแผนผลักดันในการเพิ่มผลผลิตสินค้าเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น

เช่น กลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศโมซัมบิกที่มีแผนพัฒนาสายพันธุ์ถั่วให้มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศน้อยลง และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น หรือเอธิโอเปียที่เริ่มพัฒนาสายพันธุ์ข้าวสาลีให้สามารถต้านทานโรคเชื้อราได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเพิ่มขึ้นถึง 40%

ขณะที่แซมเบียได้ทำข้อตกลงกับบริษัท American Green Resource (AGR) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อจ้างงานคนงานในประเทศกว่า 250,000 คน ในการผลิตข้าวโพด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ

ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ก็มีการวิจัยและพัฒนาข้าวพันธุ์ลูกผสมชนิดที่ใน 1 ปี ปลูกข้าวได้ 2 รอบ ซึ่งให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3,600 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อเทียบกับข้าวเจ้าทั่วไปแล้ว ข้าวพันธุ์ลูกผสมดังกล่าวมีลำต้นโตกว่า ทำให้ต้นข้าว 1 รวงมีเมล็ดข้าวกว่า 600 เมล็ด มากเป็น 3 เท่าของข้าวทั่วไป

ทำให้ผลผลิตข้าวของจีนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 768 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2016 เป็น 786 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2020

และคาดว่าในปี 2025 ผลผลิตข้าวจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 798 กิโลกรัม/ไร่ ส่งผลให้จีนมีผลผลิตข้าวมากเพียงพอที่จะบริโภคในประเทศ และมีเหลือเพียงพอในการส่งออก ซึ่งหากจีนผันตัวเองมาเป็นผู้ส่งออกมากขึ้น จะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของไทย

โดยสรุป ผู้ประกอบการธุรกิจโรงสีข้าวควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสต๊อกข้าว เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากภาวะขาดทุนสต๊อก ในส่วนผู้ส่งออกข้าวควรหันมาทำตลาดข้าวที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศมากขึ้น เช่น ข้าวพื้นนุ่ม ข้าว organic เป็นต้น เพื่อลดการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก รวมทั้งควรมีการตกลงราคาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ซื้อจากต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารต้นทุนในการซื้อข้าวสารในประเทศได้

อีกทั้งผู้ส่งออกข้าวควรบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนโดยการทำ forward contract หรือ option เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินที่มีแนวโน้มแข็งค่าในอนาคต