ผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว กระตุ้นเศรษฐกิจ ?

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ 
อำนาจ ประชาชาติ

ตอนนี้ ใคร ๆ ต่างก็เริ่มมองกันว่า เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลเองก็มีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดก็เตรียมผ่อนคลาย “เทศกาลสงกรานต์” จากนั้นในเดือน ต.ค. ก็เตรียมจะ “เปิดประเทศ” ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย

เพราะรู้กันดีว่า ถ้าไม่ผ่อนคลาย เศรษฐกิจก็จะยิ่งแย่

เห็นได้จากปีก่อนที่มีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ดิ่งเหวลงไป -12.2%

จากนั้น เศรษฐกิจทำท่าว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ทว่า พอปลายปีกลับต้องมาเจอการระบาดระลอกใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครอีก

แม้ว่ารัฐบาลจะมีบทเรียน ไม่กล้าปิดเมืองแบบเข้มข้นเหมือนเดิม แต่ก็มีผลกระทบทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจต้องชะลอลงไปค่อนข้างมาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ในช่วง 2.5-3.5% ต่อปี ลดลงจากประมาณการเดิมที่เคยคาดว่าจะโตได้ 3.5-4.5% ต่อปี

ซึ่งแม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แต่กว่าจะให้ผลในเชิงเศรษฐกิจน่าจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ อาจจะปลายปีนี้ หรืออาจจะลากไปปีหน้า ยังต้องลุ้น

สภาพัฒน์ประเมินการส่งออกน่าจะโตดีขึ้นที่ 5.8% จากเดิมคาดเพียง 4.2%

แต่ประเด็นสำคัญก็คือ การลงทุนภาคเอกชน ที่คาดว่าจะโตลดลงเหลือ 3.8% จากเดิมคาดว่าจะโตได้ 4.2% หรือแม้แต่การลงทุนภาครัฐ ก็คาดว่าจะโตลดลงเหลือ 10.7% จากเดิมคาด 12.4%

โดยคุณ “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการสภาพัฒน์ ยอมรับว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่ได้กลับสู่ระดับศักยภาพ เพราะยังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง และความไม่แน่นอนต่าง ๆ

ขณะที่ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นช้า สวนทางกับมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะ “โอเวอร์ฮีต” พลิกจากหดตัว -3.5% ในปีก่อน มาเป็นโตได้ 6.5% ในปีนี้

เนื่องจากเศรษฐกิจไทย “ไม่มี engine of growth” หรือแปลว่า “ไม่มีตัวขับเคลื่อน” นั่นเอง จึงไม่รู้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้จากอะไร เพราะภาคการท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับมา ขณะที่การส่งออกที่แม้จะเริ่มเป็นบวก แต่ก็พบว่าส่งออกของไทยโตต่ำมาก ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ

สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สู้ดีนัก

ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลพูดถึงการเตรียมการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการลงทุน และปีนี้ก็เริ่มพูดถึงอีก แต่ก็ยังไม่เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนออกมา

ซึ่งหากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว ก็ควรจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการลงทุนให้มาก เพราะจะช่วยเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการกระตุ้นการบริโภคแบบฉาบฉวย

ตอนนี้เริ่มมีคนในภาครัฐเองเสนอว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะมีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้

โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีได้ค่อนข้างมาก

ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการ “ปลดล็อก” หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย หรือ “มาตรการ LTV” แบบเป็นการชั่วคราว จะ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ว่ากันไป เพื่อจะได้ “ดึงเงิน” ออกจากผู้ที่มีกำลังซื้อออกมาสู่ระบบ และเมื่อมีคนซื้อ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สามารถขยายการลงทุนได้ ก็จะช่วยกระตุ้นการลงทุนให้กระเตื้องขึ้น ส่งผลให้จีดีพีโตได้มากขึ้นตามมา

เรื่องนี้ทางฟากผู้ประกอบการมีเสนอหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองในช่วงที่ผ่านมา

ซึ่งผู้ที่อยากให้ปลดล็อกก็มองว่า ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปจาก 1-2 ปีก่อนมากแล้ว ถ้าจะกระตุ้นการลงทุนก็น่าจะลองทำดู

เขาบอกว่า ต้องฝากความหวังไว้กับ “ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ว่าจะกล้าทำหรือไม่ ซึ่งยังต้องติดตาม