ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร : กว่าวัคซีนหลักจะมาถึง

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

แม้โลกจะเข้าสู่โหมดเริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 กันอย่างกว้างขวาง แต่จำนวนประชากรโลกที่ได้รับวัคซีนกลับ “กระจุกตัว” อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ยกตัวอย่าง สหรัฐ มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมรับที่จะฉีดวัคซีนจากความเชื่อใด ๆ ก็ตาม ส่งผลให้เกิดภาวะวัคซีนล้นเกินความต้องการจากที่ตุนไว้เป็นจำนวนมาก อัตราการติดเชื้อในสหรัฐก็ยังไม่ลดลง

เพราะการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ (มากกว่าร้อยละ 70 สำหรับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่าง อังกฤษ-บราซิล-แอฟริกาใต้ อาจจะต้องฉีดในสัดส่วนประชากรที่มากกว่าร้อยละ 90)

ส่งผลให้จำนวนคนติดเชื้อโควิด-19 มีถึง 142,696,001 คน เสียชีวิตไปแล้ว 3,043,015 คน ในจำนวนนี้ดูเหมือน อินเดีย จะมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดถึงวันละ 200,000 คน

ย้อนกลับมาดูสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย จากที่คุมการระบาดมาได้ถึง 2 รอบ มารอบนี้ดูเหมือนจะ “หนัก” กว่าทุกครั้ง

เริ่มต้นการระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ประมาณต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทะยานขึ้นไปถึงเกือบ 1,000 คน ในวันที่ 11 เมษายน ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดเชียงใหม่-ชลบุรี

จนมาถึงวันที่ 14 เมษายน ตัวเลขคนติดเชื้อรายวันทั่วประเทศอยู่ที่ 1,335 คน หรือทะลุ 1,000 คนเป็นวันแรก และคงอยู่ที่ระดับเกินกว่า 1,000 คนต่อเนื่องกันเกินกว่าสัปดาห์ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ (วันที่ 21 เม.ย.ติดเชื้อรายใหม่อีก1,458 คน)

โดยคนติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบนี้เกิดขึ้นในประชากรวัยหนุ่มสาวจากการ “ผ่อนคลาย” หลังการระบาดรอบที่ 2 (เดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องเดือนมีนาคม หลังจากที่ควบคุมเคสติดเชื้อในหมู่แรงงานที่มหาชัยได้แล้ว)

จนละเลยมาตรการในการป้องกันโรค ประกอบกับเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้มีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์ S ที่ระบาดระลอกแรกในเดือนมีนาคม 2563 มาเป็นสายพันธุ์ B 1.1.7 หรือสายพันธุ์จากอังกฤษ ที่มีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์เดิมถึง 1.7 เท่า โดยน่าจะแพร่เข้ามาผ่านทางประเทศกัมพูชา

ตัวเลขการติดเชื้อล่าสุดของประเทศไทย (ณ วันที่ 21 เม.ย.) มียอดสะสมทั้งหมด  46,643 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 110 คน

โดย 2-3 วันที่ผ่านมามีคนเสียชีวิตติดต่อกันเพิ่มขึ้น และได้กลายเป็นความกังวลว่า สถานการณ์การระบาดในไทยกำลังจะกลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ หากในอีก 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ตัวเลขคนติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลงจากระดับ 1,000 คน/วันขึ้นไป

สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของรัฐบาลไทยในภาวะที่เข้าใกล้วิกฤตยังคงดำรงอยู่บน “ความเสี่ยง” อย่างมาก ทั้งจำนวนเตียง บุคลากรทางการแพทย์ และที่สำคัญที่สุดก็คือ “วัคซีน” ความหวังสุดท้ายที่จะชะลอความรุนแรงลงได้

จากการติดตามแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลไทยพบว่า ได้วางน้ำหนักเอาไว้ที่วัคซีนของ AstraZeneca เพียงตัวเดียว โดยไม่มีการกระจายความเสี่ยงไปยังวัคซีนของบริษัทอื่น ๆ โดยวัคซีนหลักตัวนี้จะถูกผลิตโดย บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นสัญญาจ้างผลิต มีกำหนดการส่งมอบตั้งแต่ มิ.ย ไปจนกระทั่งถึง ธ.ค 2564 จำนวน 61 ล้านโดส หรือเฉลี่ยส่งมอบตั้งแต่ ก.ค. ประมาณเดือนละ 10 ล้านโดส

ทว่าแผนการส่งมอบวัคซีนในขณะนี้กลับไม่ทันกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่กำลังดำเนินไปอย่างรุนแรง ประกอบกับมีช่องว่างอยู่ถึง 1 เดือน คือ “เดือนพฤษภาคม” ที่ไม่มีวัคซีนเข้ามาในประเทศ ขณะที่รัฐบาลเองมีศักยภาพในการจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่นเข้ามาเสริมได้เฉพาะ วัคซีน Sinovac (ประมาณ 2 ล้านโดส ระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย.) เท่านั้น

ส่งผลให้ตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีนทั่วประเทศคิดเป็นไม่ถึง 0.1% ของจำนวนประชากร (6.09 แสนคน ในจำนวนนี้ 81,815 คน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส) ซึ่งถือว่า “น้อยมาก” จนกลายเป็นที่มาของการประชุมของหอการค้าไทย ที่ออกแรงกระทุ้งรัฐบาลขอให้ “ปลดล็อก”


เปิดทางให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีน “ทางเลือก” เข้ามาเสริมช่องว่าง ลดอัตราการติดเชื้อลงให้น้อยที่สุด ก่อนที่คนไทยทั้งประเทศจะเข้าถึงวัคซีนหลัก AstraZeneca ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้